การประยุกต์และออกแบบสร้างสรรค์ศิลปะการแสดงของนาฏศิลป์ไทยและกัมพูชา

Main Article Content

ชัยณรงค์ ต้นสุข
ปัทมาวดี ชาญสุวรรณ
อุรารมย์ จันทมาลา

Abstract

     การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการประยุกต์และออกแบบสร้างสรรค์ศิลปะการแสดงที่มีอัตลักษณ์ร่วมทางวัฒนธรรมระหว่างนาฏศิลป์ไทยและกัมพูชา เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยวิธีการศึกษาเอกสารและเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนาม โดยการสำรวจ สังเกต สัมภาษณ์ จากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจำนวน 8 คน กลุ่มผู้ปฏิบัติจำนวน 25 คน บุคคลทั่วไปจำนวน 15 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสำรวจ แบบสังเกตและแบบสัมภาษณ์ แล้วนำเสนอผลการวิเคราะห์โดยวิธีพรรณนาวิเคราะห์
    ผลการวิจัยพบว่า 1) นาฏศิลป์ไทยและนาฏศิลป์กัมพูชาเป็นศิลปะการแสดงประจำชาติ มีความคล้ายคลึงกันและอาจกล่าวได้ว่ามีวัฒนธรรมการแสดงที่ใกล้เคียงกันทั้งยังได้รับการอุปถัมภ์จากพระมหากษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ อย่างไรก็ตามจากการศึกษาทางประวัติศาสตร์ พบว่านาฏศิลป์กัมพูชาได้รับอิทธิพลของละครไทยจึงส่งผลโดยตรงสู่การละครในราชสำนักกัมพูชา 2) การประยุกต์และออกแบบสร้างสรรค์ศิลปะการแสดงที่มีอัตลักษณ์ร่วมทางวัฒนธรรมมีกระบวนการสร้างสรรค์ท่ารำ แบบผสมผสานระหว่างนาฏศิลป์ไทยและนาฏศิลป์กัมพูชา ประกอบด้วย ท่าหลักนาฏศิลป์ไทยจำนวน 15 ท่า ท่าหลักนาฏศิลป์กัมพูชาจำนวน 10 ท่า และท่าเชื่อมจำนวน 9 ท่า โดยการสร้างแนวคิดทฤษฎีการสร้างสรรค์ศิลปะการแสดง จากบริบทด้านองค์ประกอบของศิลปะการแสดง ได้แก่ รูปแบบการแสดง การออกแบบท่ารำ การออกแบบเครื่องแต่งกาย การแปรแถวและการบรรจุดนตรี เป็นการแสดงชุดระบำนาฏยาอัปสรานฤมิตที่มีลีลาท่ารำและดนตรีผสมผสานระหว่างนาฏศิลป์ไทยและนาฏศิลป์กัมพูชาที่บูรณาการวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของทั้งสองประเทศได้อย่างมีสุนทรียะด้านศิลปะการแสดง

Article Details

Section
บทความวิจัย (Research article)