ยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชาบริเวณจังหวัดศรีสะเกษ ภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง

Main Article Content

จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์
มาลี ไชยเสนา
สุวภัทร ศรีจองแสง

Abstract

     การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาศักยภาพการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณจังหวัดศรีสะเกษ   2) วิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในและภายนอกการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณจังหวัดศรีสะเกษ 3) นำเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชาบริเวณจังหวัดศรีสะเกษ ประชากรที่ใช้ในการวิจัย       ระยะที่ 1 ประชากรที่อาศัยอยู่ชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณอำเภอภูสิงห์ อำเภอขุนหาญและอำเภอกันทรลักษ์ จำนวน 2,365 คน กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างด้วยการใช้ตาราง Krejcie & Morgan และสุ่มอย่างง่าย จำนวน 325 คน ระยะที่ 2 กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้มีความรู้และประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยว จำนวน 35 คน โดยการเลือกแบบเจาะจง และ ระยะที่ 3 กำหนดผู้เข้าร่วมการสนทนากลุ่มคือ ผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการท่องเที่ยว จำนวน 15 คน และผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 23 คน โดยการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบประเมินศักยภาพการท่องเที่ยว มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.97  แบบบันทึก SWOT Analysis แบบบันทึกการสนทนากลุ่ม แบบประเมินความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของยุทธศาสตร์ สถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ SWOT TOWS Matrix และวิเคราะห์เชิงเนื้อหา
     ผลการวิจัยพบว่า 1) ศักยภาพการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา โดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง             2) การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในและภายนอก พบว่า จุดแข็งมีคะแนนเท่ากับ 3.01 จุดอ่อนมีคะแนนเท่ากับ 3.03 โอกาส มีคะแนนเท่ากับ 3.82 และอุปสรรคมีค่าคะแนนเท่ากับ 2.89 ผลการวิเคราะห์ TOWS Matrix มีค่าสูงสุดอยู่ที่จุดอ่อนและโอกาส 3) การนำเสนอยุทธศาสตร์พบว่า มี 5 ยุทธศาสตร์ 37 กลยุทธ์ 158 มาตรการ 133 ตัวชี้วัด ประกอบด้วย 1) การวางแผนการท่องเที่ยว 2) การตลาดการท่องเที่ยว 3) การพัฒนาบริการและปัจจัยสนับสนุนการท่องเที่ยว 4) การสร้างความเชื่อมั่นและส่งเสริมการท่องเที่ยว และ 5) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผลการประเมินความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของยุทธศาสตร์ พบว่า ด้านวิสัยทัศน์และประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 2 3 และ 5 มีศักยภาพด้านความเหมาะสมและเป็นไปได้ในระดับมากที่สุด ส่วนประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 มีความเหมาะสมในระดับมากที่สุดและความเป็นไปได้ระดับมาก

Article Details

Section
บทความวิจัย (Research article)