ผลของการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวต่อสุขภาพจิตและความฉลาดทางอารมณ์ ของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี

Main Article Content

ไกรฤกษ์ ศิลาคม
หัสดิน แก้ววิชิต

Abstract

     การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลของการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวที่มีต่อสุขภาพจิตและความฉลาดทางอารมณ์ระหว่างนักศึกษาที่มีปัญหาสุขภาพจิตกับนักศึกษาที่ไม่มีปัญหาสุขภาพจิต กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ ได้แก่ นักศึกษาระดับปริญญาตรี ที่ลงทะเบียนเรียนในรายวิชาจริยธรรมกับชีวิต สำนักวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จำนวน 30 คน ได้จากการอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มนักศึกษาที่ไม่มีปัญหาสุขภาพจิต จำนวน 22 คน และกลุ่มนักศึกษาที่มีปัญหาสุขภาพจิต จำนวน 8 คน ซึ่งได้จากการคัดกรองโดยแบบสอบถามสุขภาพทั่วไป (General Health Questionnaire) เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบประเมินแบบมาตราส่วนประมาณค่า 4 ระดับ ประกอบด้วย ดัชนีความสุขคนไทยฉบับสมบูรณ์ มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.89 แบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์ มีค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ 0.83 และแบบสอบถามสุขภาพทั่วไป มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.78 สถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบที
    ผลการวิจัยพบว่า นักศึกษาที่ไม่มีปัญหาสุขภาพจิตมีดัชนีความสุข และความฉลาดทางอารมณ์สูงขึ้นหลังได้รับการฝึกเจริญสติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ขณะที่พบแนวโน้มคะแนนที่สูงขึ้นของดัชนีความสุข และความฉลาดทางอารมณ์ และแนวโน้มที่ลดลงของปัญหาสุขภาพจิต แต่ไม่พบความแตกต่างระหว่างก่อนและหลังการฝึกเจริญสติแบบเคลื่อนไหวในนักศึกษาที่มีปัญหาสุขภาพจิต เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม พบว่า หลังได้รับการฝึกเจริญสติแบบเคลื่อนไหว นักศึกษาที่ไม่มีปัญหาสุขภาพจิตมีความฉลาดทางอารมณ์สูงกว่านักศึกษาที่มีปัญหาสุขภาพจิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 แต่ไม่พบความแตกต่างในด้านองค์ประกอบทางสุขภาพจิต

Article Details

Section
บทความวิจัย (Research article)