ปัจจัยการตลาดที่มีต่อแหล่งท่องเที่ยวด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และประเพณีของจังหวัดนครพนม
Main Article Content
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) พฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมและประเพณี ของจังหวัดนครพนม 2) ปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดที่มีต่อแหล่งท่องเที่ยวด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมและประเพณี ของจังหวัดนครพนม และ 3) ปัจจัยด้านอายุมีผลต่อส่วนประสมทางการตลาดในการท่องเที่ยวด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมและประเพณี ของจังหวัดนครพนม ใช้วิธีวิจัยเชิงปริมาณ โดยการสำรวจ แจกแบบสอบถามแก่กลุ่มตัวอย่างจำนวน 410 คน ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีถึงอายุ 59 ปีขึ้นไป ใช้การสุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญ (Accidental Sampling) และเจาะจง วิเคราะห์ด้วยสถิติเชิงพรรณนา และเชิงอนุมาน ได้แก่ Anova และวิเคราะห์รายคู่ด้วย Scheffe
ผลการวิจัย พบว่า 1) นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 55 มีอายุ 29 ถึง 38 คิดเป็นร้อยละ 35 และอายุ 59 ปีขึ้นไปไม่มีผู้ตอบแบบสอบถาม คิดเป็นร้อยละ 0 ทำธุรกิจส่วนตัว คิดเป็นร้อยละ 33 ส่วนรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 25,001 บาท ขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 34 2) ส่วนใหญ่เดินทางมาเยี่ยมชม 2-3 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 40 ใช้เวลาท่องเที่ยว 2-3 วัน คิดเป็นร้อยละ 52 เดินทางด้วยเครื่องบิน คิดเป็นร้อยละ 63 ใช้บริการสายการบินไทยแอร์เอเชีย คิดเป็นร้อยละ 65 มีความต้องการอาหารบริการบนพาหนะที่โดยสารมา คิดเป็นร้อยละ 79 3) ปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดที่มีต่อแหล่งท่องเที่ยวด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมและประเพณี ของจังหวัดนครพนม พบว่าปัจจัยกระบวนการ มีค่าเฉลี่ย 3.69 สูงที่สุด รองลงมาได้แก่ ปัจจัยผลิตภัณฑ์ / บริการ และ ปัจจัยบุคลากร มีค่าเฉลี่ย 3.54 และ 3.51 ตามลำดับ 4) เมื่อพิจารณาอายุมีผลต่อ ส่วนประสมทางการตลาด โดยวิธีวิเคราะห์รายคู่ พบว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวอายุ 49-58 ปี มีผลต่อปัจจัยด้านการส่งเสริมการตลาด มากกว่ากลุ่มอายุ 39-48 ปี ส่วนกลุ่มอายุ 39-48 ปี มีผลต่อปัจจัยด้านกระบวนการมากกว่ากลุ่มอายุ 19-28 ปี