การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์โดยใช้ไอซีทีเป็นฐานร่วมกับแนวคิด คอนสตรัคชั่นนิสซึ่ม เพื่อเสริมสร้างทักษะกระบวนการและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน คณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย

Main Article Content

วรรณิกา ชาญพิชยาพรวัฒน์

Abstract

     การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1)พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์โดยใช้ไอซีทีเป็นฐานร่วมกับแนวคิดคอนสตรัคชั่นนิสซึ่ม เพื่อเสริมสร้างทักษะกระบวนการและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 2) ศึกษาผลการใช้รูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ 3) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนต่อการเรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ ดำเนินการวิจัยโดยใช้กระบวนการวิจัยและพัฒนา กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยชลบุรี จำนวน 64 คน ได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบกลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ประกอบด้วยแบบทดสอบ แบบวัด และแบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที
     ผลการวิจัย พบว่า 1) รูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ที่พัฒนาขึ้นมีองค์ประกอบสำคัญ 5 ประการ คือ         1. หลักการมุ่งให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จากการนำเสนอประเด็นปัญหา กระตุ้นให้แสวงหาความรู้ โดยเชื่อมโยงความรู้เดิมกับความรู้ใหม่ เรียนรู้และสร้างประสบการณ์ร่วมกัน พัฒนาทักษะปฏิบัติ ใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ในการค้นหาและสร้างสรรค์ผลงาน วัดและประเมินผลที่หลากหลายวิธีการ ครูเป็นผู้อำนวยความสะดวก 2. จุดมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ พัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และเสริมสร้างความสามารถในการใช้สารสนเทศ 3. เนื้อหาที่ใช้คือสาระการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาปีที่5 4. กระบวนการจัดการเรียนรู้จำนวน 6 ขั้น ได้แก่ ขั้น (1) สร้างประสบการณ์ร่วมกัน (2) ฝึกคิดวิเคราะห์ (3) เชื่อมโยงความรู้ (4) สร้างองค์ความรู้ (5) ปฏิบัติการประยุกต์ใช้ความรู้ (6)สะท้อนผลการเรียนรู้ และ 5. การวัดผลและประเมินผล ใช้วิธีการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามสภาพจริง       ทำการวัดก่อนเรียน ระหว่างเรียนและหลังเรียน 2) ผลการใช้รูปแบบที่พัฒนาขึ้น พบว่า 2.1) ทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์หลังเรียนของกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 2.2) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์หลังเรียนของกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 2.3) ความสามารถในการใช้สารสนเทศหลังเรียนของกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 3) นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ อยู่ในระดับมาก (=4.33, S.D.=0.63)

Article Details

Section
บทความวิจัย (Research article)