การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมตามแนวคิดการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ เพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพด้านการจัดการเรียนรู้สำหรับ ครูภาษาอังกฤษระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
Main Article Content
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สังเคราะห์สมรรถภาพด้านการจัดการเรียนรู้สำหรับครูภาษาอังกฤษระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 2) พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมตามแนวคิดการเรียนรู้เชิงประสบการณ์เพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพด้านการจัดการเรียนรู้สำหรับครูภาษาอังกฤษระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 3) เปรียบเทียบสมรรถภาพด้านการจัดการเรียนรู้ของครูภาษาอังกฤษก่อนและหลังได้รับการอบรมด้วยหลักสูตรที่พัฒนาขึ้น และ 4) ศึกษาความพึงพอใจของผู้เข้ารับการอบรม กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ครูผู้สอนภาษาอังกฤษระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 23 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556จำนวน 35 คน ได้มาโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แบบทดสอบวัดความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาสาระภาษาอังกฤษ 2) แบบประเมินสมรรถภาพด้านการจัดการเรียนรู้ของครูภาษาอังกฤษระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และ 3) แบบประเมินความพึงพอใจ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและ t-test แบบ Dependent Samples
ผลการวิจัยพบว่า 1) สมรรถภาพด้านการจัดการเรียนรู้สำหรับครูภาษาอังกฤษระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มี 6 ด้าน ได้แก่ (1) ความรู้ความเข้าใจในการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ (2) ความรู้ ความเข้าใจในองค์ประกอบของโครงสร้างทางภาษาอังกฤษและมีทักษะในการสื่อสารภาษาอังกฤษ (3) ความสามารถในการสอนภาษาอังกฤษที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (4) ความศรัทธาในวิชา ชีพครู(5) ความรู้ความเข้าใจในด้านจิตวิทยาการเรียนการสอน และ (6) ความสามารถในการจัดบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ 2) หลักสูตรฝึกอบรมตามแนวคิดการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ มีองค์ประกอบ ดังนี้ (1) สภาพปัญหาและความจำเป็น เป็นการวิเคราะห์สภาพและปัญหาการจัดการเรียนรู้ของครูภาษาอังกฤษ (2) หลักการ เน้นการบูรณาการแนวคิดหลักของการพัฒนาครูภาษาอังกฤษ การเรียนรู้เชิงประสบการณ์และมาตรฐานวิชาชีพครูภาษาอังกฤษ (3) จุดมุ่งหมาย เพื่อพัฒนาสมรรถภาพของผู้เข้ารับการอบรมให้มีสมรรถภาพด้านการจัดการเรียนรู้สูงขึ้นทั้ง 6 ด้าน (4) เนื้อหา ประกอบด้วย การจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ องค์ประกอบของโครงสร้างทางภาษาอังกฤษ ทักษะการสื่อการภาษาอังกฤษ การสอนภาษาอังกฤษที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ความศรัทธาในวิชาชีพครู จิตวิทยาการเรียนการสอนและการจัดบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ (5) กิจกรรมการฝึกอบรม แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การฝึกอบรมภาคความรู้ประกอบด้วยขั้นที่ 1 ขั้นประสบการณ์ ขั้นที่ 2 ขั้นสังเกตอย่างไตร่ตรองและคิดทบทวน ขั้นที่ 3 ขั้นความคิดรวบยอด ขั้นที่ 4 ขั้นการทดลองประยุกต์แนวคิด ระยะที่ 2 การฝึกอบรมภาคสนาม และระยะที่ 3 การศึกษาผลการอบรม (6) สื่อการอบรม เป็นสื่อประสมที่หลากหลายสอดคล้องกับเนื้อหาและกิจกรรม และ (7) การวัดและประเมินผล เป็นการวัดและประเมินผลตามสภาพจริงที่สอดคล้องกับสมรรถภาพทั้ง 6 ด้าน 3) ผู้เข้ารับการอบรมมีสมรรถภาพด้านการจัดการเรียนรู้ในส่วนของความรู้ความเข้าใจหลังเข้ารับการอบรมสูงกว่าก่อนเข้ารับการอบรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ส่วนสมรรถภาพในด้านทักษะปฏิบัติผู้เข้ารับการอบรมมีค่าเฉลี่ยของคะแนนหลังการฝึกอบรมสูงกว่าร้อยละ 80 ที่กำหนดไว้ และ 4) ผู้เข้ารับการอบรมมีความพึงพอใจต่อหลักสูตรฝึกอบรมโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด