การพัฒนาระบบการเรียนโดยใช้ชุมชนเสมือนจริงเป็นฐาน ที่ส่งเสริมความรู้และสมรรถนะ ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษาของนักศึกษาครูในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ

Main Article Content

สุวิสาข์ เหล่าเกิด

Abstract

     การวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัจจุบันปัญหา และแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมความรู้และสมรรถนะด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา 2) พัฒนาระบบการเรียนโดยใช้ชุมชนเสมือนจริงเป็นฐาน ที่ส่งเสริมความรู้และสมรรถนะด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษาของนักศึกษาครูในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และ 3) ศึกษาผลการใช้ระบบการเรียนโดยใช้ชุมชนเสมือนจริงเป็นฐานฯ การวิจัยนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) โดยแบ่งการวิจัยออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การศึกษาเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้สร้างแบบสอบถามความคิดเห็นของนักศึกษาครูในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐทั่วประเทศ เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน จำนวน 415 คน และสัมภาษณ์เชิงลึกผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการเรียนการสอน จำนวน 15 คน ระยะที่ 2 การพัฒนาและหาคุณภาพระบบการเรียนฯ โดยใช้การประเมินหาความสอดคล้องและความเหมาะสม
จากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 7 คน และ หาประสิทธิภาพของบทเรียนบนเครือข่ายฯ ระยะที่ 3 การทดลองระบบการเรียนโดยใช้ชุมชนเสมือนจริงเป็นฐานฯ กำหนดระยะเวลาทดสอบในการดำเนินการทดลอง 10 สัปดาห์ โดยเก็บข้อมูลดังต่อไปนี้ 1) การทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ใช้แผนการทดลองแบบ One Group Pretest Posttest Design 2) การประเมินทักษะ โดยวัดทักษะก่อนและหลังการเรียนโดยศึกษาพัฒนาการของทักษะเป็นรายบุคคล และ 3) การประเมินความพึงพอใจของนักศึกษาครู กลุ่มตัวอย่างที่ใช้คือนักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 4 สาขาวิชานวัตกรรมและคอมพิวเตอร์ศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จำนวน 50 คน
     ผลการวิจัยพบว่า 1) นักศึกษาครูมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสาระความรู้และสมรรถนะด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษาตามมาตรฐานวิชาชีพครู โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง และเห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ โดยรวมอยู่ในระดับมาก ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการเรียนการสอน มีข้อเสนอแนะว่าควรเน้นการฝึกทักษะปฏิบัติและให้ความสำคัญกับเวลาในกระบวนการผลิตชิ้นงานนวัตกรรม 2) ระบบการเรียนโดยใช้ชุมชนเสมือนจริงเป็นฐานฯ มี 6 องค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่ (1) ความสัมพันธ์ในแบบสังคม (2) การเป็นสมาชิก (3) การแบ่งปัน (4) แหล่งเรียนรู้เพิ่มเติม (5) การแสดงผลงาน (6) การประเมินค่า ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินระบบการเรียนว่ามีความเหมาะสมและสามารถนำไปใช้ได้จริง และบทเรียนบนเครือข่ายมีประสิทธิภาพ (E1/E2) เป็นไปตามเกณฑ์ 80/80
ทุกหน่วยการเรียน 3) ผลการทดลองใช้ระบบการเรียนฯ นักศึกษามีคะแนนทดสอบหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 นักศึกษามีการพัฒนาทักษะด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศฯ ทั้ง 3 เกณฑ์การประเมินร้อยละ 88.67 ของนักศึกษาทั้งหมด และนักศึกษามีความพึงพอใจในระดับมาก

Article Details

Section
บทความวิจัย (Research article)