การศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งตลาดกลางยางพาราภาคเหนือ
Main Article Content
บทคัดย่อ
การศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งตลาดกลางยางพาราในภาคเหนือมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินสภาวะแวดล้อมการผลิต การตลาด และการประเมินศักยภาพของกลุ่มเกษตรกร โดยใช้การสำรวจข้อมูลเชิงประจักษ์จากจังหวัดพื้นที่ปลูกยางในภาคเหนือ 5 จังหวัด ในปี พ.ศ. 2557 - 2558 โดยการออกแบบสอบถามสัมภาษณ์กลุ่มเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 575 ราย วิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางด้านการเงินเปรียบเทียบกับมาตรฐานตลาดกลางในภาคใต้ ผลการศึกษาความเป็นไปได้เชิงประจักษ์ พบว่า ในพื้นที่ศึกษา 5 จังหวัด มีพื้นที่กรีดยาง 466,384 ไร่ ผลผลิต 111,163 ตัน มีกลุ่มที่ดำเนินการ 321 กลุ่ม สมาชิกกลุ่มละ 21 - 40 คน การจัดตลาดประมูลยางมียางแผ่นดิบ 51 ครั้งต่อปียางก้อนถ้วย 43 ครั้งต่อปี ศูนย์กลางรับซื้อที่มีศักยภาพที่สามารถพัฒนาเป็นตลาดกลางได้มี 2 แห่ง คือ ยางแผ่นดิบที่จังหวัดพิษณุโลก มีโรงงานยางแผ่นรมควันและยางก้อนถ้วยที่จังหวัดเชียงราย มีโรงงานยางเครฟและท่าเรือส่งออก และตลาดยางในพื้นที่มีโรงงานและร้านรับซื้อมากขึ้น ผลการประเมินความเป็นไปได้ทางด้านการเงิน พบว่า มูลค่าลงทุนจัดตั้งตลาดเป็นต้นทุนคงที่ปีละ 1.54 ล้านบาท ต้นทุนผันแปรปีละ 8.74 ล้านบาท ผลประโยชน์ที่ได้รับปีละ 10.48 ล้านบาท ระยะเวลาคืนทุนภายในระยะเวลา 5.58 ปี อัตราผลการตอบแทนภายในโครงการ 7.58% อัตราผลประโยชน์ต่อต้นทุน 1.02 และมูลค่าปัจจุบันสุทธิ 191,832บาท ในกรณีปริมาณยางเข้าสู่ตลาดมากกว่า 3,000 ตัน/ปี จะเป็นระดับปริมาณที่คุ้มทุนด้านบริหารจัดการตลาด วิธีการประมูลส่วนใหญ่ ร้อยละ 36.8 ใช้การยื่นซอง แหล่งที่มาของยางมาจากจังหวัดที่ตั้งกลุ่ม ผู้ประมูลยางได้จัดส่งไปขายต่อทั้งในจังหวัดและนอกจังหวัด ปริมาณยางที่เข้าสู่ตลาดของตลาดประมูลจังหวัดเชียงรายปีละ 620 ตัน จังหวัดพะเยา ปีละ 3,000 ตัน ปัญหาการดำเนินงานของกลุ่มส่วนใหญ่ขาดแคลนอุปกรณ์ ถูกพ่อค้ากดราคา เนื่องจากปริมาณยางน้อย ข้อเสนอแนะรัฐควรจัดทำโครงการนำร่อง และนำรูปแบบตลาด2 รูปแบบ คือ ในจังหวัดพิษณุโลก จัดตั้งเป็นตลาดกลางยางแผ่นดิบ โดยใช้รูปแบบเดียวกับตลาดกลางในภาคใต้ ส่วนในจังหวัดเชียงราย ควรจัดตั้งตลาดกลางยางก้อนถ้วย โดยยึดรูปแบบการประมูลล่วงหน้า โดยตลาดนำร่องต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สถานที่เก็บ และมีหน่วยงานรับรองคุณภาพในพื้นที่ที่ทุกฝ่ายยอมรับ