การยอมรับนวัตกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรในกลุ่มผู้บริโภคเจเนอเรชั่นวาย กรณีศึกษา: บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
Main Article Content
บทคัดย่อ
งานวิจัยเรื่อง “การยอมรับนวัตกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรในกลุ่มเจเนอเรชั่นวาย:
กรณีศึกษา บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)” เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ ด้วยวิธีการสำรวจ แบบวัดครั้งเดียว (Single cross-sectional design) มีแบบสอบถามเป็นเครื่องมือ เพื่อใช้เก็บข้อมูลจากกลุ่มเจเนอเรชั่นวายอายุระหว่าง 18 - 34 ปี จำนวนทั้งสิ้น 314 คน ที่พักอาศัย ศึกษา หรือ ประกอบอาชีพ อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ระยะเวลา สำหรับการเก็บข้อมูลเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม ถึง ตุลาคม
ปี 2560 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 3 เดือน มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาความสัมพันธ์ของ
คุณลักษณะของนวัตกรรม ภาพลักษณ์องค์กร และ ชื่อเสียงองค์กรในกลุ่มเจเนอเรชั่นวาย (2) ศึกษา
ความสัมพันธ์ของคุณลักษณะของนวัตกรรม ภาพลักษณ์ องค์กร และชื่อเสียงองค์กร กับ การยอมรับนวัตกรรม
ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรในกลุ่ม เจเนอเรชั่นวาย และ (3) ศึกษาตัวแปรที่สามารถพยากรณ์
การยอมรับนวัตกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ขององค์กรในกลุ่มเจเนอเรชั่นวายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผลการวิจัยพบว่า
1. คุณลักษณะของนวัตกรรม ภาพลักษณ์องค์กร และชื่อเสียงองค์กร ของกลุ่มเจเนอเรชั่นวาย มีความสัมพันธ์กันทางบวกโดยเฉพาะภาพลักษณ์องค์กร กับ ชื่อเสียงองค์กรมีความสัมพันธ์กันทางบวกค่อนข้างสูง
2. ภาพลักษณ์องค์กร และชื่อเสียงองค์กรมีความสัมพันธ์ทางบวกกับการยอมรับนวัตกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรในกลุ่มเจเนอเรชั่นวายระดับปานกลาง ส่วนคุณลักษณะของนวัตกรรมมีความสัมพันธ์ทางบวกกับการยอมรับนวัตกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรในกลุ่มเจเนอเรชั่นวายระดับค่อนข้างตํ่า
3. ภาพลักษณ์องค์กร และชื่อเสียงองค์กร สามารถใช้เป็นตัวพยากรณ์ร่วมกันต่อการยอมรับนวัตกรรม
ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรในกลุ่มเจเนอเรชั่นวายได้โดยมีประสิทธิภาพการพยากรณ์ร้อยละ 20.8
ทั้งนี้ ชื่อเสียงองค์กรสามารถใช้เป็นตัวพยากรณ์ตัวแปรตามคือ การยอมรับนวัตกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคม
ขององค์กรในกลุ่มเจเนอเรชั่นวายได้สูงที่สุด