การใช้กิจกรรมการอ่านแบบหลากหลายเพื่อส่งเสริมนิสัยรักการอ่านภาษาอังกฤษ และความเข้าใจในการอ่านภาษาอังกฤษ

ผู้แต่ง

  • จิราภรณ์ ผดุง สาขาการสอนภาษาอังกฤษเป็นภาษานานาชาติ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
  • นิสากร จารุมณี คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

คำสำคัญ:

การอ่านแบบหลากหลาย, นิสัยรักการอ่าน, ความเข้าใจในการอ่านภาษาอังกฤษ

บทคัดย่อ

          การวิจัยเชิงทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบนิสัยรักการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนก่อนและหลังการใช้กิจกรรมการอ่านแบบหลากหลาย  เปรียบเทียบระดับความเข้าใจในการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนก่อนและหลังการใช้กิจกรรมการอ่านแบบหลากหลาย  และเพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนต่อกิจกรรมการอ่านแบบหลากหลาย  กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนกิติคุณ  อำเภอระโนด  จังหวัดสงขลา  จำนวน  38  คน  ทำการทดลองในคาบกิจกรรมในภาคการเรียนที่  1  ปีการศึกษา  2553  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่  เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองคือแผนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านจำนวน  8  แผน  จัดกิจกรรมแผนละ  2  ชั่วโมง  และเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล  คือ  แบบทดสอบวัดความเข้าใจในการอ่านภาษาอังกฤษ  แบบประเมินนิสัยรักการอ่านภาษาอังกฤษ  แบบสอบถามความพึงพอใจ แบบสังเกตการร่วมกิจกรรมของนักเรียนและบันทึกการยืมหนังสือ  ระยะเวลาที่ใช้ในการทดลองและเก็บข้อมูลรวม  20  ชั่วโมง  วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย  ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  การทดสอบค่าที  ผลการเปรียบเทียบระดับความสามารถด้านการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจและนิสัยรักการอ่านภาษาอังกฤษก่อนและหลังการใช้กิจกรรมการอ่านแบบหลากหลาย  พบว่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.01  โดยที่ก่อนการใช้กิจกรรมการอ่านแบบหลากหลาย  นักเรียนเห็นความสำคัญของการอ่านและมีพฤติกรรมการอ่านอยู่ในระดับปานกลาง (=3.28)  หลังการใช้กิจกรรมการอ่านแบบหลากหลาย  นักเรียนเห็นความสำคัญของการอ่านและมีพฤติกรรมการอ่านอยู่ในระดับมาก  (=3.76)  และความสามารถด้านการอ่านเพื่อความเข้าใจหลังการใช้กิจกรรมการอ่านแบบหลากหลายเพิ่มขึ้น  4.56%  ซึ่งเป็นระดับที่แตกต่างจากระดับก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  .01  ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่ากิจกรรมการอ่านแบบหลากหลายช่วยพัฒนาความสามารถในการอ่านและนิสัยรักการอ่าน  นักเรียนมีความพึงพอใจต่อกิจกรรมและรู้สึกสนุกสนานกระตือรือร้นทุกครั้งในการร่วมกิจกรรม  นอกจากนี้ผลจากบันทึกการยืมหนังสือของนักเรียนแสดงให้เห็นว่าจำนวนการยืมหนังสืออยู่ในอัตราสูงและสม่ำเสมอตลอดระยะเวลาการทดลอง  ผลการศึกษาครั้งนี้นำไปสู่ข้อเสนอแนะสำหรับผู้บริหารและอาจารย์ผู้สอนให้เห็นความจำเป็นของการอ่านแบบหลากหลายและให้การสนับสนุนจัดสรรหนังสือที่เหมาะสมและน่าสนใจให้เพียงพอกับนักเรียนรวมถึงการจัดกิจกรรมที่เป็นการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอเพื่อสนับสนุนให้นักเรียนมีนิสัยรักการอ่านแบบยั่งยืน

Downloads

How to Cite

ผดุง จ., & จารุมณี น. (2016). การใช้กิจกรรมการอ่านแบบหลากหลายเพื่อส่งเสริมนิสัยรักการอ่านภาษาอังกฤษ และความเข้าใจในการอ่านภาษาอังกฤษ. วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 3(1), 71. สืบค้น จาก https://so03.tci-thaijo.org/index.php/journal-la/article/view/64782