การศึกษาการผลิตและการตลาดห้อม ในจังหวัดแพร่

ผู้แต่ง

  • จันจิรา ศักดิ์ศรี สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2

คำสำคัญ:

ห้อม, ต้นทุนและผลตอบแทน, วิถีการตลาด, ส่วนเหลื่อมการตลาด

บทคัดย่อ

      การศึกษาการผลิตและการตลาดห้อม จังหวัดแพร่ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาต้นทุนและผลตอบแทนจากการผลิตห้อมของเกษตรกร 2) ศึกษาและวิเคราะห์วิถีการตลาดและส่วนเหลื่อมการตลาดของผู้ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร/กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ ผู้ผลิตห้อม รวมถึงประเด็นปัญหาอุปสรรคต่างๆ โดยรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์เกษตรกรผู้ปลูกห้อมในพื้นที่จังหวัดแพร่ จำนวน 85 ตัวอย่าง กลุ่มเกษตรกร/กลุ่มวิสาหกิจชุมชน จำนวน 5 กลุ่ม และผู้ประกอบการ จำนวน 14 ตัวอย่าง โดยใช้ข้อมูลปฐมภูมิและข้อมูลทุติยภูมิมาวิเคราะห์ในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ  ผลการศึกษาต้นทุนและผลตอบแทนห้อมในแต่ละช่วงอายุ พบว่า การผลิตห้อมในช่วงอายุ 1 ปี เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตมากกว่าปีอื่นๆ ส่วนต้นทุนการผลิตในช่วงอายุ ปีที่ 2 – 6 ไม่แตกต่างกันมากนัก และผลตอบแทนการผลิตห้อมในช่วงอายุ 4 ปี ได้รับผลตอบแทนสุทธิต่อไร่มากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับการผลิตในช่วงอายุอื่นๆ และเมื่อทำการเปรียบเทียบผลตอบแทนและต้นทุนการผลิตห้อม พบว่า การลงทุนปลูกห้อมของเกษตรกรจังหวัดแพร่ มีความคุ้มค่าต่อการลงทุน  ผลการศึกษาวิถีการตลาดห้อมจังหวัดแพร่ พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่จำหน่ายผลผลิตให้กับกลุ่มเกษตรกร ส่วนที่เหลือบางส่วนจำหน่ายให้แก่พ่อค้าท้องที่ ก่อนที่จะแปรรูปออกมาในรูปแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อจำหน่ายทางหน้าร้านและออนไลน์ให้แก่ลูกค้าทั่วไป  ผลการศึกษาส่วนเหลื่อมการตลาดจากการจำหน่ายห้อมในจังหวัดแพร่ พบว่า ผู้ประกอบการได้รับส่วนเหลื่อมการตลาดมากที่สุด เนื่องจากได้รับกำไรจากการขายเส้นด้ายค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นผลมาจากการย้อมเส้นด้ายด้วยน้ำห้อม การเตรียมน้ำย้อมเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด มีส่วนประกอบและสัดส่วนรวมถึงเทคนิคการย้อมที่แตกต่างกัน จึงส่งผลให้เส้นด้ายที่ย้อมด้วยห้อมมีราคาสูง  ผลการศึกษาในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ในด้านการผลิต การเพาะปลูก และผลผลิตของเกษตรกรยังไม่เพียงพอและไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงเกษตรกรขาดความรู้ทั้งด้านการเพาะปลูกและการแปรรูป ดังนั้น หน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการตลาดห้อม จำเป็นต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุน ส่งเสริมความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มเกษตรในกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านส่งเสริมการปลูก 2) ด้านการผลิตและแปรรูป 3) ด้านการตลาด และ 4) ด้านการท่องเที่ยว เพื่อสนับสนุนให้เกิดอัตลักษณ์นิยมสีย้อมจากธรรมชาติอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน และก่อให้เกิดการขับเคลื่อนตามแนวทางการพัฒนาจังหวัดอย่างแท้จริง

References

สำนักงานคณะกรรมการประสานและขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐประจำจังหวัด. (2563). นโยบายการส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากห้อมแท้. แพร่: สำนักงาน.

บันลือ คำวชิรพิทักษ์. (2542). เศรษฐศาสตร์การตลาดการเกษตร. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

ประนอม ใจอ้ายและคณะ. (2561). การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ในพื้นที่จังหวัดแพร่. แพร่: ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่, กรมวิชาการเกษตร.

ประนอม ใจอ้ายและคณะ. (2561). การพัฒนาการผลิตห้อมเชิงพาณิชย์. แพร่: ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่, กรมวิชาการเกษตร.

ประเทศ พลรักษา. (2552). การจำแนกสายพันธุ์และความสามารถให้ผลผลิตห้อมจากแหล่งต่าง ๆ ในภาคเหนือของประเทศไทย. เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยแม่โจ้.

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์. (2562). การจัดทำคำขอสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทยและการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเพื่อขึ้นทะเบียนในประเทศ สินค้าผ้าหม้อห้อมแพร่. อุตรดิตถ์: ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์.

ศิริวัฒน์ ทรงธนศักดิ์. (2562). คู่มือการจัดทำและวิเคราะห์ประมาณการข้อมูลต้นทุนการผลิตพืช. กรุงเทพฯ : ศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร.

สมคิด ทักษิณาวิสุทธิ์. (2546). หลักการตลาดสินค้าเกษตร. กรุงเทพฯ: ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

สมคิด ทักษิณาวิสุทธิ์. (2548). หลักการตลาดสินค้าเกษตร. กรุงเทพฯ: คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

สำนักงานพัฒนาชุมชน. (2563). ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน ห้อมแพร่สู่ห้อมโลก. แพร่: สำนักงาน.

สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่. (2562). ข้อมูลพื้นที่การผลิตห้อม. แพร่: สำนักงาน.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-12-29

How to Cite