การประเมินผลการพูดเพื่อการสื่อสารจากคลิปวิดีโอของนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์
คำสำคัญ:
การประเมินผล, การพูดเพื่อการสื่อสาร, คลิปวิดิโอ, นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์บทคัดย่อ
การใช้ภาษาไทยในการสื่อสารเป็นสิ่งที่สำคัญในชีวิตประจำวันเพื่อต้องการติดต่อสื่อสารให้บรรลุเป้าหมายตามที่ต้องการสื่อสารไปยังผู้รับสาร ภาษาเป็นสื่อในการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ ความต้องการ ความรู้สึกอื่น ๆ มากมายในทุกกิจกรรมของมนุษย์ ภาษาจึงเปรียบเสมือนเครื่องมือนำทางให้มนุษย์ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวตลอดจนได้เรียนรู้อดีตและแนวทางในอนาคต ซึ่งบทความนี้นำเสนอการใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารโดยนักศึกษาชั้นปีที่ 1 อัดคลิปวิดีโอของนักศึกษาพูดเรื่องความประทับใจของตนเอง โดยมีจุดประสงค์เพื่อศึกษาการพูดเพื่อการสื่อสารจากคลิปวิดีโอของนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ซึ่งมีวิธีดำเนินการประเมินการพูดโดยใช้แบบประเมินการพูดเพื่อการสื่อสาร
การศึกษาครั้งนี้ได้วิเคราะห์การใช้ภาษาไทยโดยการอัดคลิปวิดีโอในประเด็นเรื่องที่พูดคือ ความประทับใจของนักศึกษาที่มีการเตรียมความพร้อมเพื่อให้เกิดความกล้าแสดงออก และใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องเหมาะสม จากการศึกษาพบสภาพปัญหาการใช้ภาษาไทยของนักศึกษา มีดังนี้ 1) ขาดการเตรียมตัวเพื่อการพูด 2) ขาดความกล้าแสดงออกในการสื่อสาร 3) ขาดการเตรียมเนื้อเรื่องที่จะพูด 4) ขาดการสรุปเรื่องที่จะพูด 5) ขาดมารยาทในการพูด จากสภาพปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดแก่นักศึกษาทุกคนที่นำเสนอ แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาเหล่านี้เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้นจริงและเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องได้รับการแก้ไข เพื่อให้เกิดการสื่อสารและประสบการณ์การนำเสนอที่ถูกต้องแก่นักศึกษา เพื่อที่จะได้พัฒนาให้นักศึกษาใช้ทักษะการพูดสื่อสารให้ถูกต้องเหมาะสม
เนื่องจากการใช้ภาษาไทยเพื่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน เป็นการใช้ภาษาที่สื่อความหมายให้เข้าใจตรงกัน โดยผู้ส่งสารต้องระมัดระวังภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในการสื่อสาร การใช้ภาษาไทยในการสื่อสารโดยการอัดคลิปวิดิโอของนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ จึงเป็นการฝึกฝนอีกรูปแบบหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง มีประสิทธิภาพ โดยผู้พูดจะต้องมีการเตรียมเนื้อหาในเรื่องที่จะพูด วางเค้าโครงเรื่องที่จะพูด ฝึกฝนการพูดก่อนที่จะอัดคลิปวิดิโอ และฝึกบุคลลิภาพในขณะที่พูด ให้ใช้น้ำเสียง ท่าทางประกอบการพูดให้เหมาะสม โดยใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายถูกต้องตามหลักการพูดที่เตรียมตัวไว้ล่วงหน้า จึงจะทำให้การพูดบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่วางไว้ ดังนั้นผู้พูดนำเสนอทุกคนต้องฝึกฝนการพูดและพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เพราะนักพูดที่ดีจะต้องฝึกฝนให้เกิดความเชี่ยวชาญ รวมทั้งมีการประเมินผลตนเองทุกครั้งจะทำให้ผู้พูดมีพัฒนาการทางการพูดที่ดีได้ และมีส่วนเสริมสร้างบุคลิกภาพของผู้พูดได้อีกทางหนึ่ง และจะส่งผลให้เป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับจากสังคม
Downloads
References
กระทรวงศึกษาธิการ. (2548). ภาษาเพื่อพัฒนาการคิด หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐานกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. (2546). พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพุทธศักราช 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบบที่ 2) พุทธศักราช 2545. กรุงเทพฯ : คุรุสภา.
ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์. (2543). พูดได้ - พูดเป็น. กรุงเทพฯ : โอเอสพริ้นติ้งเฮาส์.
นิตยา กาญจนะวรรณ. (2525). พูดจาผู้บริหาร. พิมพ์ครั้งที่ 4. สงขลา : วิทยาลัยสงขลา.
ภัสวลี นิติเกษตรสุนทร. (2546). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการสื่อสารและพฤติกรรมการสื่อสารในคณะกรรมการกลุ่มผลิตชุดวิชาทฤษฎีและพฤติกรรมการสื่อสาร. เอกสารการสอนชุดวิชา ทฤษฎี และพฤติกรรมการสื่อสาร. นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
รวิวงศ์ ศรีทองรุ่ง. (2543). การพัฒนาบุคลิกภาพเพื่อการประชาสัมพันธ์. กรุงเทพฯ : คณะวิทยาการจัดการ สถาบันราชภัฏเพชรบุรี.
รังสรรค์ จันต๊ะ. (2541). เอกสารประกอบการสอนวิชา ศท 130 ภาษาไทย. เชียงใหม่ : แสงศิลป์.
วิชชุพงศ์ วรศาสตร์กุล. (2563, มกราคม -เมษายน). “การใช้ภาษาไทยในการสื่อสารหน้าชั้นเรียนของนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย.” วารสารบัณทิตแสงโคมคำ. 6(1).