การออกแบบพื้นที่ชุมชนตลาดโบราณนครเนื่องเขตในเชิงอนุรักษ์รองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
คำสำคัญ:
การออกแบบพื้นที่ชุมชนในเชิงอนุรักษ์ ตลาดโบราณ นครเนื่องเขตบทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบริบทเดิมของตลาดโบราณนครเนื่องเขต เพื่อเป็นแนวทางในเชิงอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม อัตลักษณ์ของตลาดโบราณนครเนื่องเขต ที่มีความแตกต่างจากตลาดโบราณอื่น ๆ และออกแบบพื้นที่ชุมชนตลาดโบราณนครเนื่องเขต ในเชิงอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม รองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นการวิจัยเชิงผสมผสานโดยชุมชนมีส่วนร่วมในกระบวนการค้นหาปัญหาความต้องการ โดยมีขั้นตอนการดำเนินการและผลการวิจัย ดังนี้ ศึกษาวิถีชีวิต สังคม ชุมชน อาคาร สิ่งปลูกสร้าง สถาปัตยกรรม และสิ่งอำนวยความสะดวก ตลาดโบราณนครเนื่องเขต พื้นที่ในการวิจัยคือตลาดโบราณนครเนื่องเขต ต.นครเนื่องเขต อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ศึกษา วิเคราะห์ สังเคราะห์ ความเป็นเอกลักษณ์ของตลาดโบราณนครเนื่องเขต ที่มีความแตกต่างกับตลาดเก่าโบราณอื่น ๆ ในด้าน วิถีการดำเนินชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี อาหาร รูปแบบสถาปัตยกรรม อาคารสิ่งปลูกสร้าง และทำการออกแบบพื้นที่ชุมชนตลาดโบราณนครเนื่องเขต เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรม ผู้ให้ข้อมูลได้แก่ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนตลาดโบราณนครเนื่องเขต นักท่องเที่ยว และผู้นำชุมชนทั้งภาครัฐและเอกชน เก็บข้อมูลโดย การสังเกตและจดบันทึก การสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่ม และการสัมมนา การวิเคราะห์ข้อมูลด้านเนื้อหา สรุปองค์ประกอบหลัก และนำไปเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับการวิจัย ผลการวิจัยพบว่า บริบทตลาดโบราณนครเนื่องเขตที่ควรอนุรักษ์ได้แก่ อาคารสิ่งปลูกสร้าง ของใช้โบราณ สิ่งที่ควรพัฒนาได้แก่ พัฒนารูปแบบอักษรที่เป็นเอกลักษณ์ของตลาด และพัฒนาตราสัญลักษณ์ตลาด อัตลักษณ์ของตลาดโบราณนครเนื่องเขตคือ มีชุมชนอยู่สองฝั่งคลองโดยมีสะพานข้ามซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของตลาด การสัญจรในอดีตใช้ทางเรือเป็นหลัก ปัจจุบันก็ยังมีการสัญจรทางเรือให้เห็นอยู่ และการออกแบบพื้นที่ประกอบด้วย ซุ้มประตูปากทางตลาด ศาลาท่าน้ำ ที่ครอบถังขยะ กราฟิกบนผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก และจุดถ่ายรูป ผลของการออกแบบพื้นที่ชุมชนตลาดโบราณนครเนื่องเขตในเชิงอนุรักษ์ รองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) สรุปได้ว่า ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องบูรณาการเข้าด้วยกันเพื่อดำเนินการออกแบบพื้นที่ชุมชนตลาดโบราณนครเนื่องเขต โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อเป็นการอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม วิถีการดำเนินชีวิตของชุมชน