ภูมิปัญญาการรักษาโรคเบาหวานของหมอพื้นบ้านในจังหวัดอุบลราชธานี

ผู้แต่ง

  • พิชชานันท์ เธียรทองอินทร์
  • จันทร์เพ็ญ ธรรมพร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์

คำสำคัญ:

ภูมิปัญญา, หมอพื้นบ้าน, โรคเบาหวาน, สมุนไพร

บทคัดย่อ

       การศึกษาครั้งนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับภูมิปัญญาและตำรับยาสมุนไพรที่หมอพื้นบ้านในจังหวัดอุบลราชธานีใช้รักษาโรคเบาหวาน โดยทำการศึกษาระหว่าง พ.ศ. 2560-2561  ใช้วิธีการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง และการสังเกตแบบมีส่วนร่วมจากหมอพื้นบ้านที่มีประสบการณ์ จำนวน 7 คน  จากการศึกษาพบว่า หมอพื้นบ้านทั้งหมดเป็นเพศชาย  มีอายุระหว่าง 71-80 ปี  มีความชำนาญด้านเภสัชกรรมไทยและมีประสบการณ์ในการรักษาโรคเบาหวานมากกว่า 20 ปี มีการตั้งตำรับรักษาตามหลักเภสัชกรรมแผนไทย ประกอบด้วย ตัวยาหลัก มีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ตัวยารองมีสรรพคุณช่วยบำรุงเลือด บำรุงกำลัง ในการศึกษาครั้งนี้สามารถรวบรวมตำรับยาสมุนไพรได้ทั้งหมด 10 ตำรับ เป็นตำรับยาใช้ภายใน 9 ตำรับ และใช้ภายนอก  1 ตำรับ จำแนกพืชสมุนไพรได้จำนวน 50 ชนิด 44 สกุล 25 วงศ์ วงศ์ที่พบพืชมากที่สุด คือ Fabaceae  จำนวน 6 ชนิด รองลงมา คือ Zingiberaceae และ Menispermaceae  วงศ์ละ 5 ชนิด ส่วนของพืชที่นำมาใช้มากที่สุด คือ แก่น รองลงมา คือ ใบ ราก และเหง้า การเตรียมยาใช้วิธีการต้มดื่มมากที่สุด นอกจากนี้รสของยาหลักของสมุนไพรที่มีสรรพคุณรักษาโรคเบาหวาน คือ รสขม ซึ่งพบในสมุนไพรจำนวน 21 ชนิด รองลงมา คือ รสฝาดและรสร้อน จำนวน 18 และ 7 ชนิด ตามลำดับ สมุนไพรที่มีการใช้เป็นส่วนประกอบตำรับยามากที่สุด ได้แก่ กำแพงเจ็ดชั้น (Salacia chinensis L.) จำนวน 3 ตำรับ จากการศึกษาในครั้งนี้ สามารถนำไปต่อยอดหรือศึกษาถึงประสิทธิภาพของตำรับยาสมุนไพรในการทดลองทางห้องปฏิบัติการและในระดับคลินิก เพื่อพัฒนาภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านให้อยู่คู่กับสังคมไทยสืบไป

Downloads

Download data is not yet available.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-06-27

ฉบับ

บท

บทความวิจัย (Research Articles)