ภูมิศาสตร์วัฒนธรรม : ประวัติศาสตร์ เส้นทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และหลักพุทธธรรมในประเทศไทย
คำสำคัญ:
ประวัติศาสตร์, หลักพุทธธรรม, เส้นทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาบทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ เส้นทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและหลักพุทธธรรมในประเทศไทยสมัยทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี สุโขทัย ล้านนา และอยุธยา เก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร สังเกต สัมภาษณ์ และสัมมนากลุ่มย่อย วิเคราะห์ข้อมูลแบบพรรณนา ผลการวิจัยมีข้อค้นพบดังนี้
พระพุทธศาสนาเถรวาทจากอินเดียได้เข้าสู่สุวรรณภูมิในพุทธศตวรรษที่ 3 โดยใช้เส้นทางเดินเรือทะเล สันนิษฐานว่ามาขึ้นฝั่งที่บริเวณเมืองสะเทิมในเมียนมาร์หรือเมืองนครปฐมในไทย เผยแผ่ผ่านสมัยฟูนัน ทวารวดี และลพบุรี ส่วนพระพุทธศาสนามหายาน ได้เผยแผ่จากอินเดียเข้าสู่สุวรรณภูมิโดยเส้นทางเดินเรือทะเล ขึ้นฝั่งบริเวณแหลมมาลายู เผยแผ่เรื่อยมาถึงสมัยอาณาจักรศรีวิชัย อาณาจักรขอม เข้าสู่ประเทศไทยในสมัยลพบุรี และสมัยลพบุรีนี้ได้มีพระพุทธศาสนาอยู่สองนิกายคือเถรวาทและมหายานจนถึงสมัยสุโขทัยเมื่อพระพุทธศาสนามหายานหมดอิทธิพล พระพุทธศาสนาเถรวาทแบบพุกามและเถรวาทแบบลังกาก็เจริญขึ้น และได้เผยแผ่เข้าไปยังอาณาจักรล้านนา เมื่อพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบพุกามหมดอิทธิพล สมัยอยุธยาพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกายังมีความเจริญอยู่ และได้เผยแผ่เรื่อยมาจนถึงสมัยปัจจุบัน
หลักพุทธธรรมที่ปรากฏในหลักฐานทางโบราณคดีตามเส้นทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศไทย สมัยทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี สุโขทัย ล้านนา และอยุธยา คือ อริยสัจสี่ บุญกิริยาวัตถุ พระรัตนตรัย สัจจะ จาคะ สัทธรรมอันตรธานห้า ทศพิธราชธรรม ไตรลักษณ์ นรก สวรรค์ มงคล 38 นิพพาน บุคคลหาได้ยากสองอย่าง ทิศหก อิทธิบาทสี่ ศรัทธาสี่ คารวะหก ทศบารมี กุศลมูล อกุศลมูล เป็นต้น