การส่งเสริมและการอนุรักษ์ศิลปะการแสดงมโนราห์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดนครศรีธรรมราช
คำสำคัญ:
การส่งเสริมและการอนุรักษ์, ศิลปะการแสดงมโนราห์, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, จังหวัดนครศรีธรรมราชบทคัดย่อ
บทความนี้เป็นการนำเสนอแนวทางการส่งเสริมและการอนุรักษ์ศิลปะการแสดงมโนราห์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดนครศรีธรรมราช เนื่องจากมโนราห์เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้าน อัตลักษณ์ประจำจังหวัดภาคใต้ที่คนภาคใต้สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นการแสดงละครชาตรี มีศิลปะแม่บทท่ารำ ประกอบดนตรี กลอง ทับคู่ ฉิ่งโหม่ง ปี่ชวา ที่ผู้แสดงสามารถประยุกต์ท่ารำด้วยจิตนาการของตนตามเสียงเร้าจากดนตรีเป็นท่ารำที่งดงาม ซึ่งศิลปะการแสดงมโนราห์มีอนุรักษ์ด้วยการถ่ายทอดความรู้โดยครูโนรา ผ่านความเชื่อและพิธีกรรมการสืบสานหรืออนุรักษ์แบบรับช่วงต่อกันมาอย่างเคร่งครัด ปราศจากการบันทึกเป็นรายลักษณ์อักษร ซึ่งผู้สืบสานต่อการฝึกหัดส่วนมากเป็นคนในครอบครัวอนุรักษ์สืบสานกันมาตามช่วงอายุคน สภาพการณ์ด้านการส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปะการแสดงมโนราห์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดนครศรีธรรมราช การจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดกิจกรรมและโครงการอนุรักษ์วัฒนธรรมอาจต้องพิจารณาเรื่องความสมดุล ประชาชนคนรุ่นใหม่มีความเข้าใจและยอมรับค่านิยมแตกต่างกันต่อศิลปะเชิงวัฒนธรรมดั้งเดิม ในทางปฏิบัติพบว่า ความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนตามระบบ ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก ทำให้การบรรจุหลักสูตรการเรียนการสอนมโนราห์เพื่อเป็นการส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปะการแสดงมโนราห์ ไม่สามารถทำได้ดีเท่าที่ควร จังหวัดนครศรีธรรมอาจกำหนดนโยบายการส่งเสริมและการอนุรักษ์ศิลปะการแสดงมโนราห์ เพื่อส่งเสริมศิลปะการแสดงมโนราห์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยใช้สถานศึกษาเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปะการแสดงมโนราห์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยบูรณาการแนวคิดประชารัฐและนิติรัฐเข้าด้วยกัน เพื่อปรับแผนพัฒนาท้องถิ่น ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้เป็นรูปธรรม เพื่อการส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปะมโนราห์ให้ยังคงคุณค่า ความศรัทธา ความนิยม สืบต่อไปอย่างยั่งยืน