รูปแบบการส่งเสริมการจัดการห่วงโซ่อุปทานข้าวหอมมะลิอินทรีย์ของเกษตรกรในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
คำสำคัญ:
รูปแบบการส่งเสริมการเกษตร, การจัดการห่วงโซ่อุปทาน, ข้าวหอมมะลิอินทรีย์บทคัดย่อ
การวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) สภาพเศรษฐกิจ สังคม การรับรู้ข่าวสารและความรู้ของเกษตรกร 2) การจัดการผลิต ความคิดเห็น ปัญหาของเกษตรกร 3) การจัดการห่วงโซ่อุปทานข้าว 4) ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการผลิตและต่อความคิดเห็นในการจัดการห่วงโซ่อุปทาน 5) การส่งเสริมการจัดการห่วงโซ่อุปทาน 6) รูปแบบและแนวทางการส่งเสริมการจัดการห่วงโซ่อุปทานในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง โดยใช้แบบสัมภาษณ์ วิเคราะห์ค่าสถิติ T-test และสถิติวิเคราะห์ถดถอยพหุ ผลการศึกษาพบว่า 1) เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุเฉลี่ย 51.50 ปี จบการศึกษาระดับประถมศึกษา สมาชิกในครัวเรือน 4.22 คน มีแรงงานในครัวเรือน 2.64 คน ไม่ได้จ้างแรงงานในการผลิต พื้นที่นาอินทรีย์ของตนเอง 10.34 ไร่ เป็นสมาชิกกลุ่มผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ รายได้จากการผลิต 57,943.10 บาท รายจ่าย 26,905.55 บาทต่อปี การรับรู้ข่าวสารโดยหอกระจายข่าวจากผู้นำท้องถิ่น เกษตรกรมีความรู้ที่ถูกต้องต่อการผลิตในระดับปานกลาง 2) ผลผลิตเฉลี่ย 563.49 กิโลกรัม ต่อไร่ เกษตรกรมีความคิดเห็นต่อการจัดการห่วงโซ่อุปทานในระดับมากที่สุด ปัญหาอยู่ในระดับปานกลาง 3) การจัดการห่วงโซ่อุปทานของกลุ่มเกษตรกรทุกกลุ่มมีความเข้มแข็งและมีกระบวนการจัดการไม่แตกต่างกัน 4) ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการจัดการในเชิงปฏิบัติ ได้แก่ ความคิดเห็น ระดับการศึกษา ปัจจัยที่มีอิทธิพลในเชิงความคิดเห็น ได้แก่ การเป็นสมาชิกสถาบันเกษตรกร สมาชิกในครัวเรือน การรับรู้ข่าวสาร 5) บทบาทนักส่งเสริมการเกษตรยังไม่เป็นไปตามความคาดหวังของเกษตรกรที่ต้องการให้เข้ามาส่งเสริมการจัดการผลิต 6) รูปแบบการส่งเสริมระดับต้นน้ำใช้ระบบการฝึกอบรมและเยี่ยมเยียน กลางน้ำใช้รูปแบบการประชุมกลุ่ม ฝึกอบรม ปลายน้ำเน้นการจัดจำหน่ายในช่องทางที่หลากหลายรวมถึงการใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อให้ผู้บริโภครับรู้ถึงความหลากหลายของสินค้าที่เป็นไปตามมาตรฐาน แนวทางการส่งเสริมควรเน้นการพัฒนาการผลิต คุณภาพและผลิตภัณฑ์ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร เกษตรกร และลักษณะการส่งเสริมการจัดการห่วงโซ่อุปทาน