การสร้างฐานการเรียนรู้ฟาร์มเกษตรผสมผสานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยกระบวนการแบบมีส่วนร่วม
คำสำคัญ:
ฐานการเรียนรู้, ฟาร์มเกษตรผสมผสาน, ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงบทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความต้องการของเกษตรกรในการสร้างฐานการเรียนรู้ฟาร์มเกษตรผสมผสาน เพื่อดำเนินการจัดสร้างฐานการเรียนรู้ฟาร์มเกษตรผสมผสาน เพื่อจัดทำหลักสูตรฐานการเรียนรู้ฟาร์มเกษตรผสมผสานสำหรับใช้ฝึกอบรมเกษตรกร และเพื่อประเมินผลการจัดทำฐานการเรียนรู้และหลักสูตรฟาร์มเกษตรผสมผสาน โดยมีพื้นที่เป้าหมาย คือจังหวัดนครราชสีมา ด้านเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้มีทั้งข้อมูลปฐมภูมิจากแบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ และแบบประเมินผล และข้อมูลทุติยภูมิ สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ และการวิเคราะห์เชิงพรรณนา
ผลการศึกษาในส่วนของการสำรวจความต้องการของเกษตรกรในการสร้างฐานการเรียนรู้ฟาร์มเกษตรผสมผสาน พบว่าเกษตรกรมีความต้องการโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.21 ในส่วนของการจัดสร้างฐานการเรียนรู้ฟาร์มเกษตรผสมผสาน มีจำนวน 9 ฐาน คือ 1) ฐานการเลี้ยงหมูหลุม 2) ฐานการปลูกมันสำปะหลังด้วยระบบน้ำหยด 3) ฐานการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ 4) ฐานการเลี้ยงปลานิลแปลงเพศ 5) ฐานการเลี้ยงไก่ดำภูพานและไก่ไข่ 6) ฐานการเลี้ยงกบ 7) ฐานการเพาะเห็ดฟาง 8) ฐานการทำน้ำหมักชีวภาพ และ 9) ฐานการปลูกผักหวานป่า ด้านการจัดทำหลักสูตรฐานการเรียนรู้ฟาร์มเกษตรผสมผสานสำหรับใช้ฝึกอบรมเกษตรกร มีจำนวน 3 รูปแบบ คือ 1) หลักสูตรระยะสั้น 2) หลักสูตรระยะปานกลาง และ 3) หลักสูตรระยะยาว และผลการประเมินผลการจัดทำฐานการเรียนรู้และหลักสูตรฟาร์มเกษตรผสมผสาน พบว่า ผู้รับบริการเห็นว่าฐานการเรียนรู้ฟาร์มเกษตรผสมผสานมีประสิทธิภาพโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.28