การพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการชุมชนเข้มแข็งแบบบูรณาการในเขตเทศบาลนครพิษณุโลก
คำสำคัญ:
การพัฒนารูปแบบ, การบริหารจัดการชุมชนเข้มแข็ง, เทศบาลนครพิษณุโลกบทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพ และแนวทางการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการชุมชนเข้มแข็งแบบบูรณาการในเขตเทศบาลนครพิษณุโลก เป็นการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ กลุ่มตัวอย่างจำนวน 420 คน เครื่องมือที่ใช้สำหรับการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา นำมาแจกแจงความถี่ หาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์ตีความเนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า 1) สภาพการบริหารจัดการชุมชนเข้มแข็งแบบบูรณาการ ในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านการส่งเสริมสวัสดิการชุมชน มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมา คือ ด้านบทบาทของผู้นำชุมชน ด้านการจัดการสภาพแวดล้อมในชุมชน ด้านการแก้ไขปัญหาและการจัดระเบียบชุมชน และด้านการส่งเสริมอาชีพ รายได้ของสมาชิกในชุมชน 2) แนวทางการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการชุมชนเข้มแข็งแบบบูรณาการ พบว่า 1) การมีส่วนร่วมที่สนับสนุนให้ชุมชนเข้มแข็งแบบภาคีเครือข่าย ได้แก่ องค์กรภาคประชาชน องค์กรภาครัฐ และองค์กรภาคเอกชน 2) ปัจจัยสนับสนุนให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ได้แก่ ฐานความรู้ ระบบข้อมูล ความสัมพันธ์ และแนวทางในการนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งและยั่งยืน 3) แนวทางในการเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ได้แก่ แนวทางด้านการฟื้นฟูและจัดระเบียบของชุมชน แนวทางด้านการปรับตัวสภาพแวดล้อมในชุมชน แนวทางด้านการสร้างอาชีพให้กับชุมชน และการเสริมสร้างระบบสวัสดิการของชุมชน