รูปแบบการพัฒนาภาวะผู้นำวิสาหกิจชุมชนด้านอาหารในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์บนฐานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
คำสำคัญ:
รูปแบบ, การพัฒนาภาวะผู้นำ, วิสาหกิจชุมชนด้านอาหารบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาภาวะผู้นำวิสาหกิจชุมชนด้านอาหารในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 2) เพื่อศึกษาการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติของผู้นำวิสาหกิจชุมชนด้านอาหารในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และ 3) เพื่อสร้างรูปแบบการพัฒนาภาวะผู้นำวิสาหกิจชุมชนด้านอาหารในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ การวิจัยครั้งนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ และการวิจัยเชิงปริมาณ การวิจัยเชิงคุณภาพใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ให้ข้อมูลสำคัญ คือ ผู้บริหารในองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน จำนวน 20 คน โดยการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การวิเคราะห์เชิงเนื้อหา สำหรับการวิจัยเชิงปริมาณ ใช้กลุ่มตัวอย่างที่เป็นประชาชน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 400 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัย พบว่า
- ภาวะผู้นำวิสาหกิจชุมชนด้านอาหารในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดไปหาน้อยที่สุด ได้แก่ ด้านผู้นำโดยตำแหน่ง มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาคือ ด้านผู้นำโดยการสร้างผลงาน ด้านผู้นำโดยการพัฒนาผู้อื่น ด้านผู้นำโดยการสร้างสัมพันธ์ที่ดีและด้านผู้นำโดยสมบูรณ์มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด
- การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติของผู้นำวิสาหกิจชุมชนด้านอาหารในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดไปหาน้อยที่สุด ได้แก่ ด้านคุณธรรมมีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมา คือ ด้านการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ด้านความพอประมาณ ด้านความมีเหตุผล และด้านความรู้ มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด
- รูปแบบผู้นำวิสาหกิจชุมชนด้านอาหารในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นมาคือ “SKAP Model” โดยที่ S คือSocial (การมีสังคมดี) K คือ Knowledge (การมีความรู้) A คือ Attitude (การมีทัศนคติที่ดี) และ P คือ Participation (การมีส่วนร่วม)