การบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่มีผลต่อความผูกพันในองค์การ ของบุคลากร คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
คำสำคัญ:
การบริหารทรัพยากรมนุษย์, การผูกพันในองค์การ, ความพึงพอใจในการทำงานบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยการบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่มีผลต่อความผูกพันในองค์การของบุคลากร คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ บุคลากรสายวิชาการ และบุคลากรสายสนับสนุนวิชาการ จำนวน 109 คน โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือวิจัย แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ตอบแบบสอบถาม ข้อมูลที่เกี่ยวกับปัจจัยการบริหารทรัพยากรมนุษย์ 5 ด้าน คือ 1) การสรรหาบุคคล 2) การคัดเลือกบุคคล 3) การฝึกอบรมและการพัฒนา 4) การประเมินผลการปฏิบัติงาน และ 5) ค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ และข้อมูลที่เกี่ยวกับความผูกพันต่อองค์การ 3 ด้าน คือ 1) ความผูกพันทางด้านจิตใจ 2) ความผูกพันด้านการคงอยู่กับองค์การ และ 3) ความผูกพันด้านบรรทัดฐาน ผลการวิจัยพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นบุคลากรสายสนับสนุน ซึ่งเป็นเพศหญิงมากถึง
43 คน คิดเป็นร้อยละ 62 และเป็นเพศชายอยู่ที่ 26 คน คิดเป็นร้อยละ 38 ในส่วนของระดับความคิดเห็นของบุคลากรที่มีต่อการบริหารทรัพยากรมนุษย์ พบว่าการบริหารทรัพยากรมนุษย์ด้านการสรรหามีอิทธิพลมากที่สุดต่อความผูกพันของบุคลากรในองค์การ รองลงมาได้แก่ ด้านค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ ด้านการประเมินผลการปฏิบัติงาน ด้านการฝึกอบรมและการพัฒนา และด้านการสรรหา โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ 4.02, 3.98, 3.95, 3.95 และ 3.91 ตามลำดับ ซึ่งระดับความคิดเห็นของบุคลากรที่มีต่อปัจจัยการบริหารทรัพยากรมนุษย์ทั้ง 5 ปัจจัย ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในด้านความผูกพันต่อองค์การของบุคลากร พบว่า อายุ ตำแหน่งงาน และระยะเวลาปฏิบัติงานที่แตกต่างกันของบุคลากรมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 กับด้านการคงอยู่กับองค์การ ด้านจิตใจ และด้านการคงอยู่กับองค์การ ตามลำดับ นอกจากนี้ปัจจัยการบริหารทรัพยากรมนุษย์ทั้ง 5 ปัจจัย สามารถทำนายความผูกพันต่อองค์การของบุคลากร โดยพบว่าปัจจัยการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในด้านการสรรหา และด้านการฝึกอบรมและการพัฒนา สามารถสร้างความผูกพันของบุคลากรต่อองค์การ คิดเป็นร้อยละ 30.3 ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ในเชิงบวกที่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05