กำเนิดและพัฒนาการของตลาดสดและผู้ค้ารายย่อยในภาคอีสาน
คำสำคัญ:
ตลาดสด, ผู้ค้ารายย่อยบทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ (1) เพื่อศึกษากำเนิดและพัฒนาการของตลาดสดและผู้ค้ารายย่อยในภาคอีสาน (2) เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างรูปแบบ
การค้าขายกับวัฒนธรรมเศรษฐกิจในวงกว้าง เพื่อชี้ให้เห็นถึงการปรับตัวของผู้ค้ารายย่อยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน (3) เพื่อค้นหาข้อเสนอแนะในการพัฒนาตลาดสดและผู้ค้ารายย่อย เพื่อนำเสนอ
ต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง โครงการวิจัยนี้ เลือกจังหวัด 4 จังหวัดเป็นเป้าหมายในการศึกษา ได้แก่
จังหวัดขอนแก่น อุบลราชธานี สุรินทร์ และนครพนม วิธีการศึกษาใช้ทั้งวิธีการศึกษาเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ สัมภาษณ์เชิงปริมาณผู้ค้ารายย่อย 834 ราย ผู้ซื้อ 480 ราย สัมภาษณ์เชิงคุณภาพจากผู้ที่เกี่ยวข้องอีกประมาณ 120 ราย ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
ตลาดสดที่ศึกษา มีพัฒนาการที่เกี่ยวข้องกับการกลายเป็นเมือง โดยมีการอพยพเข้ามารของคนจีนและคนท้องถิ่น ทำให้มีประชากรหนาแน่น เมืองเป็นศูนย์กลางการคมนาคม และเป็นศูนย์กลางการบริหารราชการ แบบแผนของพัฒนาการของตลาดสด แบ่งได้เป็น 3 ช่วง ช่วงแรก (Original Period) เป็นตลาดเช้าแบกับดิน เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนปี 2424 จนมาถึงก่อนสงครามเวียดนาม (2505) ช่วงกลาง (Booming Period) เป็นช่วงขยายตัวของตลาดสดสูงสุด
กินระยะเวลามาถึง ปี 2536 ก่อนที่จะมี ห้าง Hyper Market และช่วงปลาย (Downturn Period) เกิดขึ้นในปี 2537 เป็นต้นมา เป็นช่วงที่ตลาดหลักเสื่อมถอย จำนวนผู้ค้าก็ลดลงด้วย
ปัจจุบันผู้ค้ารายย่อยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ประมาณ 1 ใน 3 ถึงครึ่งหนึ่งเคยทำเกษตรมาก่อน และ 1 ใน 5 ถึง 1 ใน 3 ยังทำเกษตรอยู่พร้อมกับทำค้าขายไปด้วย ความอยู่รอดของผู้ค้ารายย่อยในปัจจุบันเกี่ยวข้องกับค่าเช่าแผงที่มีราคาถูก สินค้ามีหลากหลายชนิด นอกจากนั้นตลาดสดมีสินค้ามาจากธรรมชาติ ทั้งผักป่า เห็ดนานาชนิด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ยังคงตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคและวิถีชีวิตแบบใหม่ของคนเมือง