หมอธรรม : การผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมบนพื้นฐานความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรม
คำสำคัญ:
หมอธรรม, การผสมกลมกลืน, วัฒนธรรม, ความเชื่อ, ประเพณีบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มุ่งศึกษาสภาพทั่วไปของวัฒนธรรม ความเชื่อ กระบวนการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมและการปรับตัวทางวัฒนธรรมของหมอธรรมในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ โดยการใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ การวิจัยเชิงเอกสาร และการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ โดยเลือกกรณีศึกษา จาก 5 กลุ่ม คือ กลุ่มหมอธรรม กลุ่มลูกศิษย์หมอธรรม กลุ่มบุคคลที่เข้ารับการรักษา กลุ่มผู้นำชุมชนที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ และกลุ่มนักวิชาการ โดยมีพื้นที่การวิจัย 3 พื้นที่ คือ บ้านลันแต้ บ้านตาพราหมณ์ ตำบลเทพรักษา อำเภอสังขะ และบ้านภูมิโพธิ์ ตำบลดม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ผลการวิจัย พบว่า หมอธรรมมีมูลเหตุจากผู้ที่เป็นหมอธรรมเคยป่วยและพบวิธีรักษาตนเอง จึงศรัทธาและนำวิธีการมารักษาผู้อื่นเรื่อยมา รวมถึงคนในครอบครัวเคยเป็นหมอธรรมมาก่อนจึงได้รับการถ่ายทอด และค้นคว้าเพิ่มเติมด้วยตนเอง โดยมีการบันทึกความรู้ในตำราและเก็บรักษาอย่างดี ในการประกอบพิธีจะมีดนตรีพื้นบ้านเข้ามากำกับจังหวะเพื่อสร้างกำลังใจให้ผู้มารักษา มีการผนวกความศรัทธา ตลอดจนความเชื่อในหลักธรรมตามคำสอนของพุทธศาสนา เช่น หลักกรรมดี กรรมชั่ว เป็นต้น ปัจจุบันหมอธรรมส่วนใหญ่จะเป็นผู้อาวุโสที่มีภูมิความรู้และปรารถนาที่จะส่งต่อองค์ความรู้ให้ศิษย์ช่วยกันทำนุบำรุงศาสตร์แห่งหมอธรรมให้คงอยู่ สรุปได้ว่าภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงยุคโลกาภิวัตน์ จำเป็นต้องเร่งหาแนวทางที่ส่งเสริมให้ชุมชนเห็นความสำคัญและเห็นคุณค่าของหมอธรรมและพิธีกรรม โดยทุกภาคส่วนต้องให้ความร่วมมือในการอนุรักษ์ส่งเสริมพิธีกรรมที่ทรงคุณค่า โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถาบันการศึกษาควรรวบรวมองค์ความรู้เพื่อเป็นแหล่งสืบค้นที่สำคัญให้กับชุมชนต่อไป