เมืองลับแล...เมืองต้องห้าม (พลาด) : อัตลักษณ์ทางการท่องเที่ยวในบริบททางประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรมชุมชน กรณีศึกษา อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์
คำสำคัญ:
เมืองลับแล, อัตลักษณ์ทางการท่องเที่ยวบทคัดย่อ
บทความเรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอัตลักษณ์ทางการท่องเที่ยวของอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ในบริบททางประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรมชุมชน ในฐานะเมืองท่องเที่ยวรองที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดการมาเยือน แนวคิดที่ใช้ 1) แนวคิด เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) 2) แนวคิด ธุรกิจแห่งการถวิลหาอดีต (Business of Nostalgia) และ 3) แนวคิดอัตลักษณ์ (Identity) 4) แนวคิดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Cultural Tourism) ใช้วิธีวิจัยทางมานุษยวิทยาเชิงคุณภาพ
จากการศึกษา พบว่า ในบริบททางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมนั้น เมืองลับแลเต็มไปด้วยชุมชนที่ผสมผสานหลายรูปแบบ ซึ่งได้รับอิทธิพลทางสังคมและวัฒนธรรมจากรัฐชาติขนาดใหญ่กว่าในบริเวณใกล้เคียง อย่าง สยาม (สุโขทัย) ล้านนา (แพร่-น่าน) ล้านช้าง (ไชยะบุลี-หลวงพระบาง) ส่งผลต่อการผสมผสานทางวัฒนธรรมจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของตน ปัจจุบันพลวัตรทางสังคมของเมืองลับแลยังดำเนินอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของกระแสสังคม แม้ได้รับอิทธิพลจากรัฐชาติสยามตั้งแต่ยุคก่อนรัตนโกสินทร์มาถึงยุคปัจจุบัน เมืองลับแล เป็นพื้นที่วัฒนธรรมที่กำลังถูกช่วงชิงความหมายในหลายบริบท จากอดีต “ชุมชนวัฒนธรรม” ขนาดเล็ก ในบริบททางประวัติศาสตร์ เมืองลับแลเป็น “ชุมชนคนเมือง”ที่เรียกตัวเองว่า “ยวนลับแลง” หรือ ไท-ยวนแห่งเมืองลับแล ในบริบททางสังคมนั้น เมืองลับแลมีฐานะเป็นเขตปกครองระดับอำเภอของจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย และในบริบทเมืองท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม นั้น เมืองลับแล กำลังนำเสนอตัวตนทางวัฒนธรรมในฐานะ พื้นที่ท่องเที่ยวชุมชนที่มีวัฒนธรรมล้านนาแบบไท-ยวน หรือ “คนเมือง” ซึ่งสะท้อนให้เห็นการผสมผสาน วิถีชีวิต ภูมิปัญญาของคน มรดกทางศิลปะ วัฒนธรรมชุมชนในภูมิศาสตร์เมืองอย่างกลมกลืน ภายใต้การบริหารจัดการเพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่ยังดำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของตนเอง “เมืองลับแล” จึงเป็น “เมืองต้องห้าม(พลาด)” สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาสัมผัสชุมชนทางวัฒนธรรมผ่านวาทกรรมทางการท่องเที่ยวที่ตอบสนองปรากฏการณ์โหยหาอดีต