การศึกษากระบวนการสร้างพื้นที่ความรู้ท้องถิ่นของชุมชนชาวประมงพื้นบ้านกว๊านพะเยาเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

Main Article Content

วสันต์ สรรพสุข

บทคัดย่อ

             การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษากระบวนการสร้างพื้นที่ความรู้ท้องถิ่นของชุมชนชาวประมงพื้นบ้านกว๊านพะเยา อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา และ 2) ศึกษาและสังเคราะห์รูปแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตบนพื้นฐานความรู้ท้องถิ่นของชุมชนชาวประมงพื้นบ้านกว๊านพะเยา โดยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ แบ่งการเก็บรวบรวมข้อมูล 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ศึกษากระบวนการสร้างพื้นที่ความรู้ท้องถิ่นของชุมชนชาวประมงพื้นบ้านกว๊านพะเยา ผ่านการศึกษาเอกสาร การสังเกตการณ์ และการสัมภาษณ์ชาวประมงพื้นบ้านจาก 4 ชุมชนที่ได้มาจากการเลือกแบบบอลล์หิมะ ระยะที่ 2 ศึกษาและสังเคราะห์รูปแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตบนพื้นฐานความรู้ท้องถิ่นของชุมชนชาวประมงพื้นบ้านกว๊านพะเยา โดยการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญที่ได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง ได้แก่ 1) ชาวประมงพื้นบ้านกว๊านพะเยา 2) เด็กและเยาวชน 3) ครูและบุคลากรทางการศึกษา 4) ผู้บริหารสถานศึกษา และ 5) ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่เดือนมีนาคม - กันยายน 2566 และใช้แนวคิดพื้นที่ความรู้และแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นกรอบในการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล
                ผลการวิจัยพบว่า 1) ชุมชนชาวประมงพื้นบ้านกว๊านพะเยามีการร่วมสร้างพื้นที่ความรู้ท้องถิ่นในลักษณะของความรู้เชิงสถานการณ์บนฐานประสบการณ์ภายใต้การปะทะผสานกับความรู้และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของภาครัฐ และบริบทความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนในพื้นที่รอบกว๊านพะเยา ประกอบด้วย 3 ปฏิบัติการ ได้แก่ ปฏิบัติการเรียนรู้และสะสมประสบการณ์ ปฏิบัติการสร้างเครือข่ายและอำนาจต่อรอง และปฏิบัติการเชิงสถาบันและเชื่อมโยงเครือข่าย 2) รูปแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตบนพื้นฐานความรู้ท้องถิ่นของของชุมชนชาวประมงพื้นบ้านกว๊านพะเยามีลักษณะเป็นองค์รวมและมีความเป็นพลวัตสะท้อนพื้นที่ความรู้ของชุมชนชาวประมงพื้นบ้านและบริบทเชิงพื้นที่กว๊านพะเยา โดยมีสนามการเรียนรู้ประมงพื้นบ้านเป็นศูนย์กลาง และมีองค์ประกอบของการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เชื่อมโยงสัมพันธ์เป็นองค์รวม ได้แก่ ผู้อำนวยการเรียนรู้ ทรัพยากรการเรียนรู้ ผู้สนับสนุนการเรียนรู้ และผู้เรียนทุกช่วงวัย

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา. (2566). ‘พะเยา’ เมืองแห่งการเรียนรู้ (learning city) เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาสำหรับทุกคน. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา. https://www.eef.or.th/article-abe-the-series-140323/.

ชาย โพธิสิตา. (2564). ศาสตร์และศิลป์แห่งการวิจัยเชิงคุณภาพ (พิมพ์ครั้งที่ 8). อมรินทร์พริ้นติ้งฯ.

พระธรรมวิมลโมลี. (2542). ประวัติกว๊านพะเยา. เชียงรายไพศาลการพิมพ์.

พัชรีภรณ์ สืบดี, วีระ เลิศสมพร และรักษ์ศรี เกียรติบุตร. (2563). แนวทางการพัฒนาการจัดการเครือข่ายประมงพื้นบ้านกว๊านพะเยา. วารสารวิชาการสิรินธรปริทรรศน์, 21(1), 224-234.

มนตรา พงษ์นิล. (2562). มุ่งสู่ชุมชนผู้ประกอบการ: โอกาสและแรงบีบคั้น ทางเศรษฐกิจการเมืองของชาวประมงกว๊านพะเยา. วารสารวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, 27(53), 156-180.

ศิวรักษ์ ศิวารมย์. (2551). สังคมศาสตร์การศึกษา. สร้างสรรค์.

สอวช. (2563). การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning) เพื่อรองรับการพลิกโฉมฉับพลันและวิกฤตการณ์โลก. กลุ่มยุทธศาสตร์กำลังคนในระบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม.

อัฒฑชัย เอื้อหยิ่งศักดิ์ และสมศักดิ์ เกี่ยวกิ่งแก้ว. (2559). ขบวนการเคลื่อนไหวของเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านกว๊านพะเยา. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, 35(3), 196-204.

อาชัญญา รัตนอุบล. (2562). แนวคิดการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตในสังคมไทย. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

อานันท์ กาญจนพันธ์. (2563). จุดตัดของเรื่องต้องห้ามในพื้นที่ความรู้. ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

อานันท์ กาญจนพันธ์. (2564). ก้าวข้ามวาทกรรมสู่พื้นที่ความรู้: จุดตัดของข้อถกเถียงทางสังคมศาสตร์. สยามปริทัศน์.

Guitart, E. M., Iglesias, E., Serra, J. M., & Subero, D. (2023). Community funds of knowledge and identity: A mesogenetic approach to education. Anthropology & Education Quarterly, 54(3), 307-317.

Sapphasuk, W. (2019). Cultural citizenship construction in Thailand–Lao PDR border school [Doctoral dissertation, Chiang Mai University]. Chiang Mai University.

Tindall, D. B., Cormier, J., & Diani, M. (2012). Network social capital as an outcome of social movement mobilization: Using the position generator as an indicator of social network diversity. Social Networks, 34(4), 387-395.