สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน

วารสาร HR Intelligence ฉบับนี้เป็นวารสารปีที่ 15 ฉบับที่ 1 (มกราคม – มิถุนายน 2563) จัดทำขึ้นเพื่อเป็นเวทีเปิดทางวิชาการให้ผู้สนใจทั้งผู้ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ นักบริหารที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับทรัพยากรมนุษย์ในองค์การและภาคส่วนต่าง ๆ ได้เผยแพร่ความคิด แง่มุมและความรู้ทางวิชาการ งานวิจัยและผลงานสร้างสรรค์อันเป็นประโยชน์ ในเล่มจะประกอบด้วยคอลัมน์ และบทความวิจัยด้านทรัพยากรมนุษย์ ในมิติต่าง ๆ ที่หลากหลาย ภายใต้การการันตีคุณภาพของการเป็นวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI กลุ่มที่ 2

 ในฉบับนี้มีงานวิจัยด้านทรัพยากรมนุษย์ 4 เรื่อง งานวิจัยเรื่องแรกคือ การวางแผนและการพัฒนาอาชีพของโรงแรม 4 ดาว และ 5 ดาว ในจังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง การวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้ทฤษฎีฐานราก เพื่อค้นหาแนวคิดในการวางแผนและพัฒนาอาชีพ อธิบายขั้นตอนในการวางแผนและพัฒนาอาชีพ ตรวจสอบบทบาทของนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ศึกษาผลลัพธ์ของการวางแผนและพัฒนาอาชีพ และพัฒนาตัวแบบการวางแผนและพัฒนาอาชีพในโรงแรม 4 และ 5 ดาว ในจังหวัดชลบุรีและระยอง งานวิจัยเรื่องที่สองคือ การศึกษาความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของลักษณะบุคลิกภาพเชิงรุก และการรับรู้บรรยากาศองค์การที่มีต่อความตั้งใจคงอยู่ในงาน โดยมีความผูกพันต่อองค์การเป็นตัวแปรสื่อของพนักงานบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า งานวิจัยเรื่องที่สามคือ ปัจจัยที่กำหนดการสมรส โดยใช้ข้อมูลซึ่งรวบรวมจากรายงานการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และหน่วยงานอื่น ๆ ของภาครัฐบาล โดยข้อมูลมีลักษณะเป็นข้อมูลพาแนลของ 77 จังหวัด ระหว่าง พ.ศ. 2556–2559 งานวิจัยเรื่องสุดท้ายคือ แบบจำลองสมการโครงสร้างของอิทธิพลการจัดการทรัพยากรบุคคลต่อผลการปฏิบัติงานของบุคลากร

นอกจากนี้ยังมี บทความวิชาการ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ บทบาทของการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในฐานะตัวขับเคลื่อนนวัตกรรมองค์กร เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าการบริหารทรัพยากรมนุษย์นั้นมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างประสิทธิภาพและความยั่งยืนของนวัตกรรมองค์กร เรื่องที่สองคือ สติ และจิตวิญญาณองค์กร ทั้งนี้ผู้วิจัยค้นพบว่างานศึกษาวิจัยทางด้านสติและจิตวิญญาณองค์การนั้นยังมีช่องว่างให้พัฒนาเพื่อเสริมองค์ความรู้ให้เข้มแข็งในบริบทของการจัดการ

ทางวารสารขอขอบคุณผู้ส่งบทความทุกท่านและยินดีเป็นอย่างยิ่งหากมีผู้สนใจเขียนและส่งบทความด้านทรัพยากรมนุษย์ในแง่มุมที่แตกต่างออกไป อันเป็นการสะท้อนภาพการพัฒนาองค์ความรู้และแนวปฏิบัติด้านทรัพยากรมนุษย์ในภาคส่วนและองค์การต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาวิจัยในระดับมหภาค (Macro) หรือจุลภาค (Micro) ทั้งนี้การศึกษามิได้จำกัดสาขาวิชา แต่เป็นการเปิดกว้างในลักษณะสหวิทยาการก็จะช่วยทำให้วงการด้านทรัพยากรมนุษย์พัฒนาไปควบคู่กับศาสตร์อื่นๆ ซึ่งจะทำให้เกิดนวัตกรรมและแนวคิดใหม่ๆ ที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้

ในท้ายที่สุดนี้ กองบรรณาธิการ หวังว่าวารสารฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านและหากมีข้อเสนอแนะใดในการปรับปรุงให้วารสารมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทางกองบรรณาธิการขอน้อมรับไว้ด้วยความยินดียิ่ง

 

เผยแพร่แล้ว: 2020-07-15