การพัฒนาวิสาหกิจชุมชนสู่ความสำเร็จ กรณีศึกษาวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์ จากธรรมชาติบ้านพุบอน ตำบลแก่งกระจาน อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

Main Article Content

ณัฏฐนันท์ ศูนย์จันดา

บทคัดย่อ

การพัฒนาระบบเศรษฐกิจชุมชนหรือวิสาหกิจชุมชนสามารถช่วยแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่น การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพการบริหารจัดการ ปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนา ปัญหาอุปสรรคและแนวทางการพัฒนาเพื่อให้วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติบ้านพุบอน ตำบลแก่งกระจาน อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรีประสบความสำเร็จ กลุ่มผู้ให้ข้อมูล จำนวน 12 คน ประกอบด้วยเจ้าหน้าภาครัฐ ประธาน คณะกรรมการและสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจ ผู้นำชุมชนและปราชญ์ชาวบ้าน นักท่องเที่ยวและร้านค้าที่รับสินค้าจากกลุ่มวิสาหกิจฯ ได้มาด้วยวิธีการเลือกแบบเจาะจง โดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth interview) และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ของกลุ่มผู้ให้ข้อมูลและจากเอกสาร ตำรา


            ผลการวิจัยพบว่าสภาพการบริหารจัดการ ประกอบด้วยด้านวัตถุดิบ กลุ่มมีการใช้ผลผลิตจากการเกษตรของท้องถิ่นตนเอง ด้านการผลิต กลุ่มมีการจัดตั้งศูนย์กลางการผลิต มีการควบคุมและตรวจสอบคุณภาพ ด้านการขนส่ง กลุ่มได้ดำเนินการใช้การขนส่ง จากหน่วยงานภายนอกและจัดส่งด้วยกลุ่มเอง ด้านการตลาด มีการจำหน่ายทั้งปลีกและส่ง มีช่องทางการจำหน่ายทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ ส่วนด้านบริการ กลุ่มมีการสร้างกิจกรรมที่ส่งเสริมความพึงพอใจของลูกค้า ปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนา ประกอบด้วยปัจจัยภายใน พบว่าสมาชิกทุกคนมีบทบาทร่วมกันในการพัฒนากลุ่ม การจัดตั้งกลุ่ม รวมทั้งการบริหารจัดการภายในกลุ่มร่วมกัน กลุ่มมีการส่งเสริมการเรียนรู้ เพิ่มพูนความรู้อย่างสม่ำเสมอ กลุ่มมีการจัดการด้านการเงิน มีการจัดทำบัญชี และมีการจัดสรรกำไร เงินปันผลให้กับสมาชิกกลุ่มทุกเดือน ปัจจัยภายนอก พบว่ากลุ่มมีเครือข่ายความร่วมมือทั้งด้านการตลาด องค์ความรู้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ งบประมาณ และการสนับสนุนด้านกำลังใจจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ปัญหา อุปสรรคในการพัฒนา พบว่า การมีคู่แข่งทางการตลาดในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใกล้เคียงกันเป็นจำนวนมาก การพึ่งพาภาครัฐในการจัดการด้านการตลาด ความไม่แน่นอนของผลผลิตที่เป็นวัตถุดิบในท้องถิ่น และปัญหาด้านการผลิต ส่วนแนวทางการพัฒนาเพื่อให้วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติบ้านพุบอน ตำบลแก่งกระจาน อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรีประสบความสำเร็จ พบว่าความเข้มแข็ง ความร่วมมือกัน ของประธานกลุ่มและสมาชิก การใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มการประชาสัมพันธ์ การตลาดและช่องทางการจัดจำหน่ายการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของลูกค้า และการสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน


           

Article Details

บท
บทความวิจัย
Author Biography

ณัฏฐนันท์ ศูนย์จันดา, คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

นักบริหารงานทั่วไป ชำนาญการ

References

สำนักงานเกษตรนนทบุรี. วิสาหกิจชุมชน. นนทบุรี: รายงานสำนักงานเกษตรนนทบุรี; 2564.

ประกิจ พลูสวัสดิ์ และคณะ. แผนธุรกิจวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติบ้านพุบอน. เพชรบุรี: รายงานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติบ้านพุบอน; 2564.

มินระดา โคตรศรีวงค์ และสถาพร มงคลศรีสวัสดิ์. การพัฒนาวิสาหกิจชุมชนสู่ความสำเร็จ กรณีศึกษากลุ่มทอผ้าไหมบ้านหวายหลึม ตำบลมะบ้า อำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด. วารสารอิเล็กทรอนิกส์มหาวิทยาลัยศิลปากร (มนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์และศิลปะ) 2559; 9: 1632-1645.

ธงพล พรหมสาขา ณ สกลนคร และอุทิศ สังขรัตน์. แนวทางการพัฒนาการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนในเขตลุ่มทะเลสาบสงขลา. รายงานวิจัย.สงขลา: คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์; 2556.

พีระศักดิ์ วรฉัตร. ปัจจัยที่ส่งผลต่อความเข้มแข็งในการบริหารวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดสุรินทร์. วารสารการเมือง การบริหาร และกฎหมาย 2561; 10: 285-310.

วรรณพรรณ รักษ์ชน และวิชิต อู่อ้น. ตัวแบบกลยุทธ์การวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ สำหรับวิสาหกิจชุมชนภาคการให้บริการในเขตภาคเหนือประเทศไทย. สักทอง: วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ 2562; 25: 120-130.

เขมิกา สงวนพวก และจิตรลดา รอดพลอย. แนวทางการพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปสมุนไพรพื้นบ้านในตำบลบ้านทราย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี วารสารบริหารธุรกิจและสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง 2564; 4: 64-84.

จิตพนธ์ ชุมเกตุ. การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการจัดการชุมชนอย่างยั่งยืนของชุมชนไทยมุสลิม อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี. รายงานวิจัย.นครปฐม: คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร; 2560.