การประยุกต์ใช้การพยากรณ์ความต้องการยางรถบรรทุกหัวลาก กรณีศึกษาบริษัทแห่งหนึ่งในเขตท่าเรือแหลมฉบัง

Main Article Content

ศรนรินทร์ หลวงแก้ว
อนิรุทธ์ ขันธสะอาด

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษารูปแบบการพยากรณ์ที่เหมาะสมสำหรับนำไปเลือกวิธีการพยากรณ์ความต้องการใช้ยางรถบรรทุกหัวลาก กรณีศึกษาบริษัทแห่งหนึ่งในเขตท่าเรือแหลมฉบัง 2) คำนวณหาปริมาณการสั่งซื้อที่ประหยัด ซึ่งจะนำไปสู่การคำนวณหาพื้นที่ในการจัดเก็บยางในลำดับถัดไป 3) คำนวณหาจุดสั่งซื้อใหม่ และเพื่อทำการเปรียบเทียบต้นทุนรวมก่อนและหลังทำการวิเคราะห์ปริมาณการสั่งซื้อที่ประหยัดของบริษัทกรณีศึกษา โดยใช้ข้อมูลปริมาณการใช้ยางรถบรรทุกหัวลาก ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2564 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 จำนวน 24 เดือน โดยใช้เทคนิคการพยากรณ์แบบจำลองอนุกรมเวลา (Time Series Forecasting) ทั้งหมด 9 วิธี และเลือกวิธีการพยากรณ์โดยจะพิจารณาจากค่าความคลาดเคลื่อนที่มีค่าต่ำที่สุด โดยได้นำแนวคิดปริมาณการสั่งซื้อที่ประหยัด (Economic Order Quantity: EOQ) มาประยุกต์ใช้ในการคำนวณหาพื้นที่ ที่ต้องใช้ในการจัดเก็บยาง จากนั้นทำการคำนวณหาจุดสั่งซื้อใหม่ (Reorder Point: ROP) คำนวณหารอบระยะเวลาในการสั่งซื้อ และคำนวณหาจำนวนครั้งเพื่อเปรียบเทียบต้นทุนรวม (Total cost)


          จากผลการพยากรณ์พบว่าวิธี Double exponential smoothing ให้ค่าความคลาดเคลื่อนต่ำที่สุด โดยวิธีค่าร้อยละความคลาดเคลื่อนสัมบูรณ์เฉลี่ย (MAPE) เท่ากับ 13.93% ค่าเฉลี่ยของความเบี่ยงเบนสัมบูรณ์ (MAD) เท่ากับ 26.10 ค่าเฉลี่ยความคลาดเคลื่อนกำลังสอง (MSE) เท่ากับ 1038.97 และผลการวิเคราะห์ปริมาณการสั่งซื้อที่ประหยัดเท่ากับ 340 ชิ้นต่อครั้ง ต้องใช้พื้นที่ในการจัดเก็บยางทั้งหมด 99 ตร.ม. จุดสั่งซื้อใหม่เท่ากับ 85 เส้น รอบการสั่งซื้อทุก ๆ 56 วัน จำนวนครั้งในการสั่งซื้อเท่ากับ 7 ครั้งต่อปี โดยมีต้นทุนรวม เท่ากับ 100,639.33 บาทต่อปี ซึ่งจากเดิมในปี 2565 ต้นทุนรวมเท่ากับ 436,262.10 บาทต่อปี ดังนั้นเมื่อทำการเปรียบเทียบต้นทุนรวมจะพบว่าสามารถลดลงได้ถึง 335,622.77 บาทต่อปี หรือคิดเป็น 76.93%

Article Details

How to Cite
หลวงแก้ว ศ., & ขันธสะอาด อ. (2023). การประยุกต์ใช้การพยากรณ์ความต้องการยางรถบรรทุกหัวลาก กรณีศึกษาบริษัทแห่งหนึ่งในเขตท่าเรือแหลมฉบัง. วารสารบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์, 2(1), 71–88. สืบค้น จาก https://so03.tci-thaijo.org/index.php/RPUBAJOURNAL/article/view/269668
บท
บทความวิจัย