บทบรรณาธิการ

วารสารราชธานีนวัตกรรมทางสังคมศาสตร์ ขอขอบคุณเจ้าของบทความวิชาการ และบทความวิจัยทุกเรื่อง ที่เห็นคุณค่าในการเผยแพร่ความรู้ผ่านการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ อันเป็นคุณประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อตัวท่านเจ้าของบทความเอง และความรู้ซึ่งท่านผู้อ่านทุกท่านจะได้รับในการเปิดโลกทัศน์การอ่านในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

            บทความวิชาการ ที่คัดเลือกมาตีพิมพ์ในวารสารฉบับนี้ ได้รับความกรุณาจากอาจารย์และนิสิตระดับปริญญาโท คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถ่ายทอดประสบการณ์การไปศึกษาดูงานการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างภาวะผู้นำของประเทศญี่ปุ่น แล้วนำกลับมาสังเคราะห์ เพื่อนำเสนอแนวทางการเรียนรู้ในการส่งเสริมภาวะผู้นำของประเทศไทย ได้อย่างน่าสนใจ และให้กำลังใจว่าเราเองก็เป็นหนึ่งในฟันเฟืองนั้น ในฐานะครู อาจารย์ ของสถาบันการศึกษาที่จะช่วยสร้างทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ให้เติบโตไปเป็นกำลังสำคัญของผู้ที่จะร่วมพัฒนาประเทศไทยอย่างมีวิสัยทัศน์แห่งภาวะผู้นำที่เหมาะสมในอนาคต

            บทความวิจัยที่ผ่านการพิจารณาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ เรื่องละ 2 ท่าน นำมาถ่ายทอดให้ท่านผู้อ่านได้รับความรู้พร้อมกันในวารสารฉบับนี้ มีความน่าสนใจในเนื้อหา อีกทั้งหลากหลายในทัศนคติ เป็นต้นว่า การศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จากการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือด้วยเทคนิคจิ๊กซอว์ หรืออีกเรื่อง การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบซิปปา ซึ่งหากท่านผู้อ่านเป็นครู หรืออาจารย์ แล้วอ่านบทความวิจัยสองเรื่องนี้ นำมาวิเคราะห์ร่วมกัน จะเห็นถึงโอกาสที่จะนำไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนของตัวท่านเองได้อย่างน่าสนใจ นอกจากนั้นแล้ว ยังมีบทความวิจัยเรื่อง แนวทางการบริหารหลักสูตรพาณิชยกรรม สาขาธุรกิจค้าปลีก ซึ่งน่าสนใจและอยู่ในกระแสความสนใจของผู้รับผิดชอบในการปรับปรุงหลักสูตรสถานศึกษา เพื่อให้นักเรียนสามารถมีรายได้ระหว่างเรียน ขณะเดียวกันก็ยังได้รับวุฒิทางการศึกษาด้วย สำหรับบทความวิจัยเรื่องสุดท้ายที่ตีพิมพ์ในวารสารฉบับนี้ คือ การประเมินความเสี่ยงด้านการยศาสตร์ของคนงานตัดอ้อยและลำเลียงอ้อยขึ้นรถบรรทุก ท่านผู้อ่านจะได้ความรู้ เกิดประโยชน์โดยท่านอาจจะนำไปปรับใช้ในการศึกษาการเคลื่อนไหวที่จะช่วยให้การทำงานไม่เกิดความเมื่อยล้ากับอาชีพอื่น ๆ ได้เช่นเดียวกัน

            ขอขอบพระคุณท่านผู้อ่านทุกท่านที่ติดตามการเผยแพร่ของวารสารมาต่อเนื่อง รวมทั้งให้ความสนใจในการส่งบทความวิชาการ และ บทความวิจัยที่น่าสนใจเพื่อเข้ารับการพิจารณาคัดเลือกตีพิมพ์ในวารสารอีกด้วย นับเป็นการเติมเสน่ห์ของแวดวงวิชาการได้อีกรูปแบบหนึ่ง สำหรับท่านที่มีเรื่องราวดี ๆ อยากจะร่วมแบ่งปัน ท่านสามารถศึกษารูปแบบการเขียนบทความทั้งสองรูปแบบ ซึ่งระบุรายละเอียดทั้งหมดไว้ในตอนท้ายของวารสาร กองบรรณาธิการหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับบทความที่เป็นประโยชน์และน่าสนใจจากท่าน เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการติดอาวุธทางปัญญาให้กับท่านผู้อ่านของวารสารวิชาการในฉบับต่อไป

 

                                                                                                                               ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทองสุข วันแสน

                                                                                                                                                    บรรณาธิการ 

Published: 2020-05-07