การประยุกต์ใช้หลักธรรมเพื่อการครองเรือนที่ปรากฏในคัมภีร์อรรถกถา ธรรมบทในสังคมปัจจุบัน
Main Article Content
บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการครองเรือนในสังคมปัจจุบัน 2) เพื่อหลักโอวาท 10 ประการ ของธนัญชัยเศรษฐีที่ปรากฏในคัมภีร์อรรถกถา ธรรมบทเกี่ยวกับการครองเรือน และ 3) เพื่อศึกษาการประยุกต์ใช้หลักโอวาท 10 ประการ ของธนัญชัยเศรษฐีเกี่ยวกับการครองเรือน เพื่อแก้ปัญหาในสังคมปัจจุบัน การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัย เชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ที่เน้นการศึกษาเอกสาร (Documentary Research) โดยศึกษาค้นคว้าเอกสารจากคัมภีร์พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พร้อมทั้งอรรถกถา ฎีกา และรวมไปถึงตำรา เอกสาร งานวิทยานิพนธ์ หรืองานวิจัยต่าง ๆ ของนักวิชาการ ทางพระพุทธศาสนา และจากการสัมภาษณ์ข้อมูลจากหัวหน้าครอบครัวในเขตเทศบาลตำบลเขาชัยสน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง
ผลการวิจัยพบว่า: 1) หลักการครองเรือนและสภาพปัญหาของการครองเรือนในสังคมปัจจุบัน จากการศึกษาวิจัยพบว่า ลักษณะของการครองเรือนในสังคมปัจจุบันจากกระแสโลกาภิวัตน์รวมทั้งความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี และวิทยาการสมัยใหม่ ส่งผลกระทบต่อครอบครัวไทยในปัจจุบันเป็นอย่างยิ่งทำให้ต้องเผชิญกับสภาวการณ์ความเปลี่ยนแปลงซึ่งมีปัจจัยทั้งภายในครอบครัวเอง และปัจจัยแวดล้อมภายนอกในชุมชน สังคม รวมทั้งสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของครอบครัวในสังคมไทยทำให้ลักษณะของครอบครัวในปัจจุบันมีลักษณะที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นกว่าในอดีต ทำให้สมาชิกในครอบครัวมีการดำเนินชีวิตที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปจนทำให้เกิดเป็นปัญหาต่าง ๆ ขึ้นในสังคมไทย 2) หลักโอวาท 10 ประการ ของธนัญชัยเศรษฐีเกี่ยวกับการครองเรือนในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบทเป็นปริศนาธรรม ที่ท่านธนัญชัยเศรษฐีได้กล่าวสอนแก่นางวิสาขาผู้เป็นธิดาของตน ก่อนที่นางวิสาขาจะแยกครองเรือนไปสู่ตระกูลของสามี และอบรมสั่งสอนมารยาท ที่ดีของสตรี เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติสำหรับการครองเรือนโดยได้ให้โอวาท 10 ประการเพื่อนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติอันเป็นภาระ หรือหน้าที่สำหรับสตรีผู้ไปสู่ตระกูล ของสามีจำต้องประพฤติปฏิบัติเพื่อความสงบสุข และความมั่นคงในการครองเรือน โดยมีข้อปฏิบัติที่กล่าวสอนไว้ ดังนี้ 2.1) ไฟในอย่านำออก 2.2) ไฟนอกอย่านำเข้า 2.3) ควรให้แก่คนที่ให้เท่านั้น 2.4) ไม่ควรให้แก่คนที่ไม่ให้ 2.5) ควรให้ทั้งแก่คนที่ให้ และคนที่ไม่ให้ 2.6) พึงนั่งให้เป็นสุข 2.7) พึงนอนให้เป็นสุข 2.8) พึงบริโภคให้เป็นสุข 2.9) พึงบูชาไฟ 2.10) พึงนอบน้อมเทวดาภายใน 3) การประยุกต์ใช้หลักธรรมเพื่อการครองเรือนที่ปรากฏในคัมภีร์อรรถกถา ธรรมบทในสังคมปัจจุบัน จากการวิจัยพบว่า การสร้างองค์ความรู้ และความเข้าใจ ในหลักการของหลักโอวาท 10 ประการ เพื่อการครองเรือนในสังคมปัจจุบันถือว่าเป็นประเด็นที่สำคัญที่ส่งเสริมความมั่นคงในการครองเรือนเป็นแนวทางสำหรับนำไปปฏิบัติ เพื่อให้การครองเรือน หรือสถาบันครอบครัว ปราศจากความขัดแย้งเสริมสร้างความรัก ความสามัคคี มุ่งให้ทุกคนรู้จักบทบาทหน้าที่ และสถานภาพของแต่ละคนแล้วดำเนินชีวิต ไปตามหน้าที่ดังกล่าว อย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ในตระกูล คือ พ่อ แม่ ทั้งฝ่ายสามี และภรรยา รวมถึงคู่ชีวิตในการครองเรือนอันเป็นหัวใจสำคัญ คือ คู่สามีภรรยาเองอีกด้วย ก่อให้เกิดความรักความสามัคคี และความมั่นคงภายในครอบครัวอย่างแท้จริงส่งผลดีต่อสังคมโดยรวม
Article Details
References
แผนกตำรา. (2525). อันตรคาถาธรรมบทแปล ภาค 3 . กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย.
ดิเรก นุ่นกล่ำ. (2559). พระพุทธศาสนากับการพัฒนาสถาบันครอบครัว. ใน สารนิพนธ์พุทธศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอังกฤษ. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
พรรณพิลาศ กุลดิลก. (2560). การขับเคลื่อนสังคมผ่านสื่อใหม่ในยุคโลกาภิวัตน์. วารสารวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, 25(49), 59-77.
พระมหาบุญเพียร ปุญฺญวิริโย (แก้ววงศ์น้อย). (2544). แนวคิดและวิธีการขัดเกลาทางสังคมในสถาบันครอบครัวตามแนวพระพุทธศาสนา. ใน วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา. มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
พระวิทูล สนฺตจิตฺโต. (2557). การวิเคราะห์หลักจริยศาสตร์สำหรับแก้ปัญหาการครองเรือนในสังคมไทย. วารสารบัณฑิตศึกษามหาจุฬาขอนแก่น, 1(1), 12-22.
ภิรมย์ บุญยิ้ม. (2544). การศึกษาหลักการเลือกคู่ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท. ใน วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา. มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
วนัญญา แก้วแก้วปาน. (2560). สัมพันธภาพครอบครัวกับปัญหาการกระทำผิดในวัยรุ่น. Veridian E-Journal Silpakorn University, 10(1), 361-371.
วรารัชต์ มหามนตรี. (2557). โครงการโลกทัศน์ของคนไทยจากภาษิต. ใน รายงานวิจัย. มหาวิทยาลัยนเรศวร.
สมภาร พรมทา. (2548). พุทธปรัชญา: มนุษย์สังคม และ ปัญหาจริยธรรม. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพมหานคร: ศยาม.
สุภาวดี ขุนทองจันทร์. (2559). ความสัมพันธ์ระหว่างโลกาภิวัตน์กับค่านิยมพื้นฐานในสังคมไทย. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี, 7(1), 160-185.
หนึ่งฤทัย ขอผลกลาง. (2550). ปัจจัยแห่งการดำรงอยู่หรือล่มสลายของครอบครัว. ใน รายงานวิจัย. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.