กระบวนการเกิดใหม่ในพระพุทธศาสนาเถรวาทและวัชรยาน
Main Article Content
บทคัดย่อ
การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษากระบวนการเกิดใหม่ในพุทธศาสนาเถรวาท 2) เพื่อศึกษากระบวนการเกิดใหม่ในพระพุทธศาสนาวัชรยาน และ 3) เพื่อเปรียบเทียบกระบวนการเกิดใหม่ในพุทธศาสนาเถรวาทและวัชรยาน การศึกษาวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Research) โดยศึกษาจากเอกสารปฐมภูมิ และทุติยภูมิ จากนั้น ทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบและนำเสนอผลการวิจัยตามวัตถุประสงค์
ผลการวิจัยพบว่า: พระพุทธศาสนาเถรวาทกล่าวถึงการเกิดใหม่ไว้ 2 ลักษณะ คือ 1) กลุ่มที่ยังมีกิเลสข้องอยู่ หมายถึงกลุ่มที่ยังมีกิเลส กรรม วิบาก นับตั้งแต่อริยบุคคล ชั้นอนาคามี สกิทาคามี โสดาบัน มนุษย์ สัตว์ นรก เปรต อสุรกาย เทวดา 2) กลุ่มที่บรรลุอรหันต์จะไม่มีการเกิดใหม่แล้วเพราะมีการตัดวงจรสังสารวัฏแล้ว พระพุทธศาสนาเถรวาทนั้นให้ความสำคัญกับเรื่องของจิตเป็นสำคัญ เมื่อจุติจิตดับ ปฏิสนธิจิตก็เกิดขึ้นทันที สัตว์ที่ตายไปแล้วจะต้องมีภพภูมิที่รองรับจะไปเกิดใน ภูมิ 31 ภูมิ ได้แก่ ทุคติภูมิ มีนรก กำเนิดเดียรัจฉาน เปรตวิสัย อสุรกาย ส่วนสุคติภูมิ ได้แก่ มนุษย์ เทวดา รูปพรหม และอรูปพรหม
ส่วนพระพุทธศาสนาวัชรยาน การเกิดใหม่ถือเป็นการเคลื่อนย้ายตามอำนาจของกรรม เมื่อกายได้ตายลง จะปรากฏเป็นสัมภเวสี โดยมีระยะเวลาช่วงนี้ประมาณ 7 วัน หรือที่เรียกว่าสภาวะบาร์โดหรืออันตรภพ รอคอยการไปเกิดใหม่ สามารถกำหนดภพภูมิที่จะไปเกิดได้ว่า จะไปเกิดในสุคติภูมิหรือทุคติภูมิ รวมภพภูมิที่ไปเกิดทั้งหมด 6 ภูมิ นอกจากนี้ วัชรยาน ยังพิธีกรรมที่จะช่วยให้กำหนดสถานที่จะไปเกิดได้ โดยอาศัยพลังและพระมหากรุณาธิคุณของพระโพธิสัตว์ในการไปสู่ภพภูมิที่ดีรวมถึงการเข้ารวมเป็นหนึ่งเดียวกับสัมโภคกายของพระโพธิสัตว์
เมื่อเปรียบเทียบ พบว่า กระบวนการเกิดใหม่ในพระพุทธศาสนาเถรวาทและวัชรยานนั้นมีลักษณะที่สำคัญ 3 อย่าง คือ 1) เรื่องความตาย พระพุทธศาสนาเถรวาทไม่สามารถเลือกได้ว่าจะตายในเวลาไหน ตายอย่างไร ไปเกิดในสถานที่ไหน และเกิดเป็นอะไร จะทราบได้ก็ต่อเมื่อจิตใจ ไม่บริสุทธิ์ก็จะไปสู่ทุคติ แต่ถ้าจิต บริสุทธิ์ก็จะไปสู่สุคติภูมิ ในขณะที่พระพุทธศาสนาวัชรยานนั้นมีความเชื่อว่าสามารถที่จะทำพิธีต่ออายุเพื่อผลัดผ่อนความตายได้ในบางกรณี 2) รอยต่อระหว่างการตายและการเกิดใหม่ ในพระพุทธศาสนาเถรวาทเชื่อว่า เมื่อตายลงไปแล้วสามารถที่จะเกิดใหม่ได้ทันทีไม่มีลักษณะของการรอคอย แต่พระพุทธศาสนาวัชรยานเชื่อว่ามีการเข้าถึงอันตรภพ เป็นเวลา 7 วัน ก่อนที่จะมีการเกิดใหม่ 3) กระบวนการเกิดใหม่ของพระพุทธศาสนาเถรวาทและวัชรยานมีความเหมือนกันคือ อาศัยกรรมเป็นปัจจัยหลักที่จะนำไปเกิดในภพภูมิทั้งสุคติและทุคติ แต่ก็มีความแตกต่างกันคือ พระพุทธศาสนาเถรวาท เมื่อตัดวงจรสังสารวัฏได้ ไม่ต้องกลับมาเกิดใหม่เรียกว่า เข้าสู่สภาวะนิพพาน ในขณะที่พระพุทธศาสนาวัชรยาน สัตว์ที่ตายไปแล้วจะไปเกิดในภพภูมิตามกรรมที่ได้ทำไว้ โดยจะมีการประกอบพิธีกรรมเพื่ออ้อนวอนขอให้คุรุหรือพระโพธิสัตว์ช่วยชี้ทางให้ไปเกิดในสุคติภูมิได้ สภาวะที่สรรพสัตว์ปรารถนาสูงสุด คือ การเข้าไปรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระสัมโภคกายของพระพุทธเจ้าอันเป็นความสงบสุขนิรันดร์
Article Details
References
ประพันธ์ ศุภษร. (2550). ศึกษาวิเคราะห์พัฒนาการแห่งการตอบปัญหาเรื่องกรรมกับอนัตตาในพระพุทธศาสนาเถรวาท. ใน ดุษฎีนิพนธ์พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
พร รัตนสุวรรณ. (2539). ตายแล้วเกิด. กรุงเทพมหานคร: สำนักค้นคว้าทางวิญญาณ.
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต). (2551). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ (ชำระ - เพิ่มเติม ช่วงที่ 1). กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2535). พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2539). พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
วัชระ งามจิตรเจริญ. (2551). แนวความคิดเรื่องอันตรภพในพุทธศาสนาเถรวาท จาก ไตรภูมิพระร่วงถึงภิกษุสันดานกา: ความเชื่อ ความงาม ความจริง. ใน โครงการ ส่งเสริมและเผยแพร่งานวิจัยเนื่องในวาระหนึ่งทศวรรษพุทธศาสนศึกษา. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ส.ศิวรักษ์. (2531). เตรียมตัวตายอย่างมีสติ. กรุงเทพมหานคร: คณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา.
สยาม ราชวัตร. (2553). วิธีอ้างเหตุผลเพื่อยืนยันความมีอยู่ของโลกหน้าในพระพุทธศาสนา เถรวาท. ใน ดุษฎีนิพนธ์พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.