แนวคิดนิติเศรษฐศาสตร์ในกระบวนพิจารณาคดีแพ่งและพาณิชย์

ผู้แต่ง

  • คณิน วงศ์ใหญ่

คำสำคัญ:

นิติเศรษฐศาสตร์, เศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ว่าด้วยกฎหมาย

บทคัดย่อ

บทความนี้ผู้เขียนเสนอแนวคิดในพัฒนากฎหมายที่พิจารณาจากประสิทธิภาพของกฎหมาย โดยการศึกษาหลักกฎหมายเฉพาะกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่เป็นกระบวนการ อันนำตัวบทกฎหมายให้สามารถบังคับใช้ได้จริงตามเจตนารมณ์และถ้อยคำที่ได้บัญญัติไว้ในสิทธิทางแพ่ง ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีแนวคิดในทางการอำนวยความยุติธรรม เพื่อให้เกิดความเสมอภาคและเท่าเทียมกันไม่เอนเอียงต่อฝ่ายใด อย่างไรก็ตาม เพื่อพิจารณาถึงความต้องการพื้นฐานของประชาชนในปัจจุบันนั้น กฎหมายไม่ได้เป็นเรื่องความยุติธรรมเท่านั้นอีกแล้ว ซึ่งความต้องการพื้นฐานของประชาชนที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือเรื่อง ปากท้อง การมีรายได้ รายจ่ายที่เหมาะสม โอกาสและการสูญเสียโอกาส อันคือเรื่องเศรษฐกิจที่ความรู้ทางกฎหมายไม่สามารถกำหนดได้ทั้งหมด เมื่อพิจารณาความหมายของเศรษฐศาสตร์ ซึ่งหมายถึง วิชาการใช้หรือการจัดการกับทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ให้ได้ประโยชน์สูงสุด โดยหลักเศรษฐศาสตร์มีภารกิจมองไปในด้านการให้คุณค่ากับมิติด้าน“ประสิทธิภาพ” เป็นสำคัญ เพราะหากกฎหมายไม่มีประสิทธิภาพจะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในเชิงมหภาคด้วย เช่น การว่างงาน, ปัญหาระดับราคาสินค้า, เงินเฟ้อ, เงินฝืด ซึ่งรวมถึงยังจะเกิดปัญหาที่เกิดทางอ้อมอีกด้วย เช่น ปัญหาอาชญากรรมในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ผู้เขียนจึงได้ศึกษาและเสนอหลักกฎหมายประยุกต์กับหลักเศรษฐศาสตร์ อันจะสามารถช่วยเหลือสนับสนุนกฎหมายให้มีประสิทธิภาพมาก ซึ่งเรียกว่า นิติเศรษฐศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ว่าด้วยกฎหมาย เป็นศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาประเด็นสำคัญทางกฎหมาย ทฤษฎีกฎหมาย การตีความกฎหมาย การออกแบบกฎหมาย การประเมินคุณค่า โดยมีข้อเสนอแนะเพื่อให้กฎหมายมีประสิทธิภาพและมีความสอดคล้องกับหลักนิติเศรษฐศาสตร์ ดังนี้ 1. ผู้เขียนเสนอให้เมื่อการพิจารณาในการบัญญัติกฎหมายหรือการแก้ไขกฎหมาย ต้องให้มีนักเศรษฐศาสตร์ หรือผู้เชี่ยวชาญทางนิติเศรษฐศาสตร์เป็นผู้ร่วมให้ความเห็นและพิจารณากฎหมายด้วย 2. ผู้เขียนเสนอให้มีการนำเสนอความรู้นิติเศรษฐศาสตร์มาส่งเสริม โดยนำมาจัดการเรียนการสอน การอบรม และอภิปรายให้กับนักศึกษากฎหมายนักกฎหมาย รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพิจารณาความแพ่ง ไม่ว่าจะเป็น ศาล อัยการคดีแพ่ง ทนายความ เจ้าพนักงานบังคับคดี เป็นต้น 3. ผู้เขียนเสนอให้มีการนำหลักนิติเศรษฐศาสตร์มาพิจารณาและใช้กฎหมายวิธีการพิจารณาคดีแพ่งมีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ โดยมีการการวัดและประเมินกระบวนการตามหลัก นิติเศรษฐศาสตร์ และการใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น เทคโนโลยี, Big Data เพื่อให้การใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น 4. ผู้เขียนเสนอให้มีการนำหลักนิติเศรษฐศาสตร์มาเป็นแนวคิดในการบัญญัติกฎหมาย และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎหมายวิธีการพิจารณาคดีแพ่ง ให้เป็นกฎหมายที่มีประสิทธิภาพในทางเศรษฐกิจ เช่น การบัญญัติกฎหมายที่กำหนดหน้าที่เพื่อป้องเหตุพิพาท เพื่อมิให้เกิดความเสียหายที่มากกว่าภายหลังการพิพาท หรือปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในเรื่องโทษหรือผลร้ายต่อผู้ฝ่าฝืนให้เหมาะสมที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการบังคับใช้กฎหมาย กระบวนการยุติธรรมทางแพ่งจึงไม่ใช่แต่เพียงการอำนวยความยุติธรรม ไม่เอนเอียงเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงการเยียวยาการแก้ปัญหาทางแพ่งและพาณิชย์ที่เกิดกับคู่ความ บุคคลที่เกี่ยวข้อง ค่าใช่จ่ายของรัฐ รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจโดยรวมอีกด้วย อันที่จะทำให้กฎหมาย วิธีพิจารณาความแพ่งและพาณิชย์ประสิทธิภาพ

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-05-15