วาทกรรมประชารัฐในบริบททางการเมืองของประเทศไทย
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาการผลิตสร้างความหมายของคำว่า “ประชารัฐ” ในฐานะวาทกรรมทางการเมืองในสมัยรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตลอดจนอิทธิพลทางการเมืองของวาทกรรมประชารัฐ ที่มีผลต่อพฤติกรรมทางการเมืองของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยใช้ระเบียบวิจัยเชิงคุณภาพ มุ่งเน้นการศึกษาผ่านเอกสารราชการ สื่อโทรทัศน์ที่รัฐใช้สื่อสารกับประชาชน และบทความต่าง ๆ สรุปผลในเชิงวิเคราะห์และพรรณนา
ผลการศึกษาพบว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ผลิตสร้างความหมายของประชารัฐอย่างกว้างขวาง สรุปความได้ว่า เป็นความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนความสามัคคีไม่แตกแยก ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งพ้องกับอุดมการณ์ธรรมาภิบาล นอกจากนั้นยังผูกคำว่าประชารัฐเข้ากับชุดคำต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ พิจารณาได้ว่าเป็นความพยายามที่จะยกย่องเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นการสื่อให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะที่ผ่านมาสถาบันได้ถูกดึงเข้ามาอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง อย่างไรก็ตามการที่รัฐบาลได้นำคำว่า “ประชารัฐ” ไปผูกติดกับโครงการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการที่มีลักษณะเป็นประชานิยม โครงการหลวง โครงการที่ดำเนินการมาตั้งแต่รัฐบาลก่อน ๆ ทำให้ความหมายและอุดมการณ์ของวาทกรรมประชารัฐนั้นไม่ชัดเจน เสมือนการสร้างความรับรู้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองเพราะการปรากฏตัวขึ้นของคำว่า “ประชารัฐ” ในรัฐบาลชุดนี้มาพร้อมกับกลุ่มการเมืองที่ประกาศว่าจะสนับสนุนการดำรงตำแหน่งอีกสมัยของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และต่อมาได้กลายเป็นพรรคพลังประชารัฐขึ้นในที่สุด
Article Details
References
- ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. (2545). สัญญะวิทยา โครงสร้างนิยม หลังโครงสร้างนิยมกับการศึกษารัฐศาสตร์. กรุงเทพฯ: วิภาษา.
- ธงชัย วินิจจะกูล. (2534). วิธีศึกษาประวัติศาสตร์แบบวงศาวิทยา (Genealogy): รายงานโครงการวิจัยเสริมหลักสูตรคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ม.ป.ท.
- ประจักษ์ ก้องกีรติ และวีระยุทธ กาญจนชูฉัตร. (2561). ระบอบประยุทธ์ การสร้างรัฐทหาร และทุนนิยมแบบช่วงชั้น. ฟ้าเดียวกัน, 16(2), หน้า 30-35.
- ประเสริฐ ณ นคร. (2548, 17 มิถุนายน). ราชบัณฑิตอธิบาย “ทักษิณ” ประชารัฐในเพลงชาติถูกต้อง. สืบค้นเมื่อ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 จาก https://mgronline.com/qol/detail/9480000080969
- ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. (2527). รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517). กรุงเทพฯ: ช. ชุมนุมช่าง
- มานิตย์ นวลละออ (มนฤตย์พล อุรบุญนวลชาติ). (2540). การเมืองไทยยุคสัญลักษณ์รัฐไทย. กรุงเทพฯ: รุ่งเรืองรัตน์พริ้นติ้ง.
- สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. (2547). ความเป็นมาของเพลงชาติไทยปัจจุบัน. วารสารธรรมศาสตร์, 27(1), หน้า 2-102.
- สามชาย ศรีสันต์. (2561). ว่าด้วยการวิเคราะห์วาทกรรมแนววิพากษ์ (On critical discourse analysis). กรุงเทพฯ: สมมติ.
- สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2540). แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540-2544). กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.