การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อการจัดการความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เรื่อง การใช้ประโยชน์จากต้นจากในชุมชนเกาะหยงสตาร์ จังหวัดตรัง
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการจัดการความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องการใช้ประโยชน์จากต้นจากผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชนเกาะหยงสตาร์ จังหวัดตรังและเพื่อศึกษาแนวทางการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องการใช้ประโยชน์จากต้นจากผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชนเกาะหยงสตาร์ จังหวัดตรัง มีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการวิจัยแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ คนนอกและคนใน รวม 10 คน ใช้วิธีการรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพคือ การวิเคราะห์เอกสาร การสัมภาษณ์เชิงลึก การสังเกต การสนทนากลุ่ม การสำรวจพื้นที่และแผนที่ความคิด วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า 1) คนในชุมชนเกาะหยงสตาร์ จังหวัดตรัง ยังการเห็นคุณค่าการใช้ประโยชน์ภูมิปัญญาท้องถิ่นจากต้นจากโดยในพื้นที่ยังคงมีผู้ที่ใช้ประโยชน์กับต้นจากทั้งในด้านอุปโภคและบริโภค โดยต้นจากเป็นพืชเศรษฐกิจที่ควรอนุรักษ์เอาไว้เพราะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่ยอดอ่อนจนถึงราก ได้รับการเรียนรู้ผ่านการสังเกต บอกเล่า ลงมือปฏิบัติ สอนให้แก่ลูกหลาน ผู้ใหญ่ในชุมชนต้องการสืบทอดให้แก่เด็กที่อาศัยในท้องถิ่นเพื่อไม่ให้องค์ความรู้การใช้ประโยชน์ภูมิปัญญาท้องถิ่นจากต้นจากสูญหายไป 2) ประเด็นการจัดการความรู้การใช้ประโยชน์ภูมิปัญญาท้องถิ่นจากต้นจาก พบว่า ส่วนประกอบของต้นจากที่เป็นองค์ความรู้ในชุมชนเกาะหยงสตาร์ จังหวัดตรังรวม 10 ส่วน ใช้อุปโภค มี 6 ส่วน คือ ใบแก่ ใบอ่อน ใบกึ่งอ่อนกึ่งแก่ ก้านจาก โคนทางจากและราก ใช้บริโภค มี 2 ส่วน คือ ลูก และดอกจาก 3) กลุ่มคนที่ชุมชนต้องการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องการใช้ประโยชน์จากต้นจากคือ “เด็กในพื้นที่” 4) การพัฒนาแนวทางการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องการใช้ประโยชน์จากต้นจาก คือการจัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องการใช้ประโยชน์จากต้นจากให้แก่เด็กโดยสอดแทรกเป็นกิจกรรมเสริมความรู้ในโรงเรียนในพื้นที่