การสื่อสารทางการเมืองผ่านบทเพลงของพงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534-2555

Main Article Content

ศิริรัตน์ พิสัยเลิศ

บทคัดย่อ

การศึกษาการสื่อสารทางการเมืองผ่านบทเพลงของพงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534-2555 มีวัตถุประสงค์ดังนี้ คือ 1) เพื่อศึกษา บริบททางการเมือง สังคม และประสบการณ์ทางการเมืองในชีวิตของพงษ์สิทธิ์ คำภีร์ที่ส่งผลต่อการสื่อสารทางการเมืองผ่านเนื้อหาในบทเพลง ช่วงปี พ.ศ. 2534-2555 และ 2) เพื่อศึกษาประเด็นการสื่อสารทางการเมืองในบทเพลงเพื่อชีวิตของพงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ในช่วงปี พ.ศ. 2534-2555


ผลการศึกษาพบว่า บริบททางการเมือง สังคม และประสบการณ์ทางการเมืองในชีวิตของพงษ์สิทธิ์ ที่ส่งผลต่อการสื่อสารทางการเมืองผ่านเนื้อหาในบทเพลงระหว่างปี พ.ศ. 2534-2555 สามารถแบ่งออกเป็น 3 ช่วงคือ ช่วงที่ 1 ระหว่างเหตุการณ์ความรุนแรงในเดือนพฤษภาปี 35 ถึงวิกฤติเศรษฐกิจ (ช่วงปี พ.ศ.2534-2543) ช่วงที่ 2 การเมืองไทยภายใต้รัฐบาลทักษิณและการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 (ช่วงปี พ.ศ. 2544-2549) และช่วงที่ 3 คือ การเมืองไทยภายหลังการรัฐประหารและความขัดแย้งทางการเมืองที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น (ช่วงปี พ.ศ. 2549-2555) ทั้งนี้หากพิจารณาจากบทบาททางการเมืองของพงษ์สิทธิ์ คำภีร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของศิลปินอย่างในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และการร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นห้วงเวลาที่มีอิทธิพลต่อการสื่อสารทางการเมืองผ่านบทเพลงของศิลปินมากที่สุด


งานศึกษาวิจัยนี้ยังปรากฏประเด็นการสื่อสารทางการเมืองในบทเพลงเพื่อชีวิตของพงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2534-2555 โดยสามารถสรุปประเด็นได้ดังนี้ 1) การส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย 2) การเสียดสีพฤติกรรมอันมิชอบของนักการเมือง ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ 3) การสะท้อนความทุกข์ยากของประชาชนและการเสียดสีสภาพสังคมการเมืองในช่วงนั้น ๆ 4) การส่งเสริมอุดมการณ์ชาตินิยม และ  5) การส่งเสริมสันติภาพและต่อต้านสงคราม

Article Details

บท
บทความวิชาการ