ความต้องการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความต้องการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 2) เพื่อวิเคราะห์สาเหตุและปัญหาด้านการให้บริการในการรับสมัครนักศึกษาผ่านช่องทางเว็บไซต์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ 1) ประชาชนที่สมัครเรียนกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ปีการศึกษา 2562 ผ่านช่องทางเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 ถึง 16 กุมภาพันธ์ 2563 โดยการสุ่มอย่างง่าย จำนวน 661 คน และ 2) อาจารย์ประจำสาขาวิชา 12 สาขาวิชา ๆ ละ 2 คน และบุคลากรใน 3 หน่วยงานที่ให้บริการนักศึกษา หน่วยงานละ 2 คน รวม 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามในรูปแบบออนไลน์จำนวน 3 ชุด แบบสัมภาษณ์เชิงลึกสำหรับใช้สัมภาษณ์กลุ่มที่กรอกข้อมูลการสมัครไม่สมบูรณ์ และกลุ่มที่กรอกข้อมูลการสมัครสมบูรณ์แต่ไม่ชำระเงิน และแบบบันทึกการสนทนากลุ่มระหว่างการจัดประชุมสนทนากลุ่มกับบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหลักสูตรและการให้บริการนักศึกษาของมหาวิทยาลัย โดยมีการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาและความเที่ยง วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ยและการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยสามารถสรุปได้ดังนี้ 1) ความต้องการศึกษาต่อระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชโดยภาพรวมด้านหลักสูตร พบว่า กลุ่มตัวอย่างทุกกลุ่มมีความต้องการอยู่ในระดับมากในทุกประเด็นทั้งนี้ในประเด็นต้องการให้มหาวิทยาลัยเปิดสอนหลักสูตรใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง กลุ่มตัวอย่างที่กรอกข้อมูลการสมัครสมบูรณ์แต่ไม่ชำระเงินมีความต้องการระดับมากที่สุดในประเด็นดังกล่าว ความต้องการศึกษาต่อระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชโดยภาพรวมด้านการศึกษาทางไกล พบว่ากลุ่มตัวอย่างทุกกลุ่มมีความต้องการอยู่ในระดับมากทุกประเด็นทั้งนี้ในประเด็นจัดสอนเสริมทางไกลผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ กลุ่มตัวอย่างที่กรอกข้อมูลการสมัครสมบูรณ์แต่ไม่ชำระเงินมีความต้องการระดับมากที่สุดในประเด็นดังกล่าว ความต้องการศึกษาต่อระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชโดยภาพรวมด้านการบริการศึกษา พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่กรอกข้อมูลการสมัครไม่สมบูรณ์ส่วนใหญ่มีความต้องการระดับมากทั้งนี้ในประเด็นเกี่ยวกับระบบแจ้งเตือนบนเว็บไซต์มีความต้องการในระดับมากที่สุด ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่กรอกข้อมูลการสมัครสมบูรณ์แต่ไม่ชำระเงิน ในทุกประเด็นมีความต้องการระดับมากที่สุด และกลุ่มกรอกข้อมูลการสมัครสมบูรณ์และชำระเงิน ส่วนใหญ่มีความต้องการระดับมาก ทั้งนี้ในประเด็นการสมัครนักศึกษาและลงทะเบียนเรียนผ่านแอปพลิเคชัน และควรมีระบบการสอบออนไลน์ มีความต้องการระดับมากที่สุดในประเด็นดังกล่าว และ 2) ปัญหาด้านการให้บริการในการรับสมัครนักศึกษาใหม่ผ่านเว็บไซต์พบว่าส่วนใหญ่ปัญหาที่นักศึกษาพบมาจากตัวระบบรับสมัครนักศึกษาที่ไม่สะดวกแก่ผู้ใช้งานเท่าที่ควร เช่น ขั้นตอนการสมัครและคำอธิบายประกอบการสมัครที่มีความซับซ้อนและต้องการข้อมูลของนักศึกษามาเกินไป การเลือกแผนการศึกษาต้องเลือกในภายหลังเนื่องจากความไม่พร้อมของข้อมูล ข้อจำกัดในการอัปโหลดเอกสารประกอบการสมัครที่ถูกบังคับด้วยขนาดของไฟล์และระบบชำระเงินที่ไม่สามารถชำระเงินได้ทันที
Article Details

This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
ข้อความและบทความในวารสารการวัด ประเมินผล สถิติ และการวิจัยทางสังคมศาสตร์ เป็นแนวคิดของผู้เขียน มิใช่ความคิดเห็นของกองบรรณาธิการวารสาร จึงมิใช่ความรับผิดชอบของวารสารการวัด ประเมินผล สถิติ และการวิจัยทางสังคมศาสตร์ บทความในวารสารต้องไม่เคยตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน และสงวนสิทธิ์ตามกฎหมายไทย การจะนำไปเผยแพร่ ต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากกองบรรณาธิการ
References
กาญจนา วัธนสุนทร และรัชนีกูล ภิญโญภานุวัฒน์. (2548). รายงานการวิจัยสถาบันเรื่องความคิดเห็นและความสนใจของนักเรียนในการศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.). นนทบุรี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
ภานุพงศ์ เสกทวีลาภ. (2557). ปัจจัยที่ส่งผลต่อความตั้งใจด้านพฤติกรรมการใช้ Cloud storage ในระดับ Software-as-a-Service (SaaS) ของพนักงานองค์กรเอกชนในเขตพื้นที่เศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร. การค้นคว้าอิสระปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ.
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2563). ระเบียบการสมัครเป็นนักศึกษาและลงทะเบียนเรียนภาคต้นและภาคปลาย ปีการศึกษา 2563. นนทบุรี : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2564). ระเบียบการสมัครเป็นนักศึกษาและลงทะเบียนเรียนภาคต้นและภาคปลาย ปีการศึกษา 2564. นนทบุรี : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
วิจิตร ศรีสอ้าน. (2529). การศึกษาทางไกล Distance education. นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.