กระบวนการสื่อสารกับสาธารณชนกระบวนการตัดสินใจและปัจจัยการสื่อสารที่มีผลต่อการเข้าร่วมโครงการ “จิตประภัสสรตั้งแต่นอนอยู่ในครรภ์” ของเสถียรธรรมสถาน

Main Article Content

มาลีวรรณ ศุขวัฒน์
ปาริชาต สถาปิตานนท์

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการสื่อสารของเสถียรธรรมสถานกับสาธารณชน กระบวนการตัดสินใจและปัจจัยการสื่อสารที่มีผลต่อการเข้าร่วมโครงการจิตประภัสสรตั้งแต่นอนอยู่ในครรภ์ของพ่อแม่ที่เตรียมตั้งครรภ์ กำลังตั้งครรภ์หรือให้กำเนิดลูกแล้วที่เป็นสมาชิกของโครงการ โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ด้วยการสังเกตการณ์แบบไม่มีส่วนร่วม ศึกษาจากเอกสารและสื่อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและสัมภาษณ์แบบเจาะลึกคณะทำงานโครงการจำนวน 6 คนและสมาชิกโครงการจำนวน 33 คน รวมทั้งสิ้น 39 คน ผลการวิจัยพบว่า กระบวนการสื่อสารกับสาธารณชนของคณะทำงานโครงการมีเป้าหมายการสื่อสาร 2 เป้าหมายหลัก คือ เพื่อให้ข้อมูล ข่าวสาร ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับโครงการ และเพื่อเชิญชวนให้เข้าร่วมโครงการ โดยเน้นประเด็นการสื่อสาร 3 ประเด็น คือ เรื่องกายใจบนพื้นฐานของหลักการเชิงพุทธวิทยาศาสตร์ หลักธรรมะในวิถีชีวิต และทุนชีวิตที่พ่อแม่ลงทุนเพื่อลูก กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ พ่อแม่ที่เตรียมตั้งครรภ์ กำลังตั้งครรภ์หรือให้กำเนิดลูกแล้ว และกลุ่มเป้าหมายรอง 5 กลุ่ม คือ เยาวชนหนุ่มสาวที่กำลังจะสร้างครอบครัว กลุ่มผู้มาปฏิบัติธรรม กลุ่มผู้มาเยี่ยมชมเสถียรธรรมสถาน ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไป สำหรับกลยุทธ์การสื่อสารที่คณะทำงานใช้ในการสื่อสารกับสาธารชน ได้แก่ 1. กลยุทธ์ด้านสาร ซึ่งประกอบด้วย 3 กลยุทธ์หลัก คือ เน้นการนำเสนอสาระที่เป็นข้อเท็จจริงอย่างเป็นเหตุเป็นผล เน้นการนำเสนอสาระที่ท้าทายให้ปฏิบัติ และเน้นการแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งกันและกัน 2. กลยุทธ์ด้านสื่อ ประกอบด้วย 5 กลยุทธ์หลัก คือ การสื่อสารแบบปากต่อปาก การสื่อสารในทุกที่ที่มีโอกาส การบูรณาการช่องทางที่หลากหลาย การสื่อสารผ่านเครือข่ายโรงพยาบาล และการสร้างกิจกรรมให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปแบบและสม่ำเสมอ กระบวนการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการจิตประภัสสรตั้งแต่นอนอยู่ในครรภ์เริ่มมาจากปัจจัยภายในตนเองของพ่อแม่เป็นหลัก ได้แก่ 


การมีความทุกข์กังวลใจอยากให้สภาพจิตใจดีขึ้น ความตั้งใจที่จะทำสิ่งดีๆ เพื่อลูก ความศรัทธาในพุทธศาสนา การปฏิบัติธรรมและความศรัทธาต่อเสถียรธรรมสถาน โดยมีปัจจัยภายนอกหรือบริบทแวดล้อม คือ เพื่อน/คนใกล้ชิด,ข่าวสารจากสื่อมวลชนและกระแสธรรมะที่มาแรงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ สำหรับกระบวนการตัดสินใจพบว่า มี 3 ระยะด้วยกัน คือ ระยะที่ 1 ระยะก่อนการตัดสินใจ เป็นขั้นของการแสวงหาข้อมูล ระยะที่ 2 ระยะการตัดสินใจ ประกอบด้วย ขั้นการคิดพิจารณา และขั้นตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ และระยะที่ 3 ระยะหลังการตัดสินใจ เป็นการเรียนรู้จากการเข้าร่วมโครงการ ปัจจัยการสื่อสารที่มีผลต่อการเข้าร่วมโครงการจิตประภัสสรตั้งแต่นอนอยู่ในครรภ์ประกอบด้วย 4 ปัจจัย คือ 1. ปัจจัยด้านผู้ส่งสาร คือ การมีบุคลิกภาพดี สุขุม เป็นมิตร มีศีลธรรม เป็นผู้ส่งสารที่มีความรู้ ประสบการณ์การทำงานกับหญิงตั้งครรภ์ มีความน่าเชื่อถือและมีทักษะการสื่อสารที่ดีอธิบายเรื่องยากให้เข้าใจง่าย 2. ปัจจัยด้านสาร ประกอบด้วย วัจนสาร ได้แก่ เนื้อหาด้านหลักธรรมะที่เข้าใจง่าย เนื้อหาให้ความรู้ด้านการดูแลครรภ์ เนื้อหาที่ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายต่อการนำไปปฏิบัติและเนื้อหาที่เป็นประสบการณ์จริง สำหรับอวัจนสาร เน้นการสัมผัสแสดงความรักและรูปแบบการปฏิบัติธรรมที่แตกต่าง 3. ปัจจัยด้านช่องทางการสื่อสาร ได้แก่ การสื่อสารแบบปากต่อปาก การใช้ช่องทางที่หลากหลายและการบูรณาการสื่อ และ 4. ปัจจัยด้านผู้รับสาร คือ ความต้องการที่พึ่งทางใจของผู้รับสาร ความเชื่อในการคิดดี ทำดี แล้วจะได้ในสิ่งที่ดี ความศรัทธาในพุทธศาสนา การปฏิบัติธรรมอยู่แล้วและความต้องการที่จะเตรียมความพร้อมทางด้านจิตใจเพื่อลูก

Article Details

บท
Articles