การสื่อสารความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการธุรกิจบุหรี่
Main Article Content
บทคัดย่อ
งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์เกี่ยวกับแนวทางการสื่อสารและรูปแบบของกิจกรรมเกี่ยวกับแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคม(CSR) ของผู้ประกอบการธุรกิจบุหรี่ที่ใช้ในการสื่อสารกับสาธารณชน โดยเป็นการวิจัยแบบผสมผสาน (Integrated Research) โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์เอกสาร (Documentary Analysis) จากเว็บไซต์ผู้ประกอบการธุรกิจบุหรี่และการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth Interview) กับกลุ่มสาธารณชนที่เกี่ยวข้อง ผลการวิจัยพบว่า 1. แนวทางการสื่อสารเกี่ยวกับแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ของผู้ประกอบการธุรกิจบุหรี่แบ่งออกเป็น 5 แนวทาง คือ การทำให้เป็นข่าว การใช้การสื่อสารผ่านบุคคล การสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ต การใช้การสื่อสารผ่านสื่อเฉพาะกิจ และการใช้การสื่อสารผ่านการจัดเหตุการณ์พิเศษ โดยกลุ่มเป้าหมายในการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว ประกอบด้วย กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคม กลุ่มผู้หญิงและองค์กรสตรี กลุ่มผู้ชายหรือนักกีฬาชาย และกลุ่มผู้สูงอายุ รวมถึงลักษณะกิจกรรม 5 ประเภท ประกอบด้วย กิจกรรมด้านการศึกษา กิจกรรมด้านสังคม กิจกรรมด้านกีฬา กิจกรรมด้านสาธารณสุข และ กิจกรรมด้านศิลปะและวัฒนธรรม 2. รูปแบบการสื่อสารเกี่ยวกับแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ของผู้ประกอบการธุรกิจบุหรี่ประกอบด้วย 6 รูปแบบ คือ 1) การบริจาคเงินให้กับมูลนิธิหรือหน่วยงานองค์กรสาธารณกุศล 2) การเพิ่มเงินลงทุนเพื่อการแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานของบริษัทเพื่อสังคมโดยรวม 3) การสนับสนุนให้พนักงานของบริษัทเป็นอาสาสมัครเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมกับชุมชน 4)การเป็นผู้สนับสนุนในการส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสังคมหรือตัวองค์กร 5)การบริจาคเงินจากส่วนแบ่งการขายสินค้าหรือบริการขององค์กรภายในช่วงเวลาที่กำหนดให้กับองค์กรต่างๆในสังคม 6)การสนับสนุนโครงการหรือกิจกรรมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม 3. กลุ่มสาธารณชนมีทัศนคติเกี่ยวกับกิจกรรมที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมแตกต่างกันโดย กลุ่มนักวิชาการด้านสร้างเสริมสุขภาพมีทัศนคติเชิงลบต่อกิจกรรมที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการธุรกิจบุหรี่ ส่วนกลุ่มสื่อมวลชนมีทัศนคติเป็นกลางต่อกิจกรรมที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการธุรกิจบุหรี่ ในขณะเดียวกันกลุ่มบุคคลที่ได้รับการสนับสนุนจากธุรกิจบุหรี่พบว่า มีทัศนคติเชิงบวกต่อกิจกรรมที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการธุรกิจบุหรี่