ทัศนคติของผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจที่มีต่ออาชีพการประชาสัมพันธ์และกิจกรรมสื่อมวลชนสัมพันธ์

Main Article Content

ทิพย์อาภรณ์ ยิ้มละมัย
พนม คลี่ฉายา

Abstract

ศึกษาทัศนคติของผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจที่มีต่ออาชีพการประชาสัมพันธ์ นักประชาสัมพันธ์ และกิจกรรมสื่อมวลชนสัมพันธ์ ใช้ระเบียบวิธีวิจัย 2 วิธี คือการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจ โดยเลือกกระจายตามอายุการทำงาน เพื่อนำมาสร้างแบบสอบถาม และการวิจัยเชิงสำรวจ ซึ่งดำเนินการต่อจากการสัมภาษณ์เชิงลึก โดยสำรวจทัศนคติของผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจที่มีต่ออาชีพการประชาสัมพันธ์ นักประชาสัมพันธ์ และกิจกรรมสื่อมวลชนสัมพันธ์ ใช้แบบสอบถาม (Questionnaire) เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล จากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจ จำนวน 200 คน ผลการวิจัยพบว่า ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจมีทัศนคติต่ออาชีพการประชาสัมพันธ์ในทิศทางบวก โดยมีมุมมองว่าอาชีพการประชาสัมพันธ์เป็นอาชีพที่ผู้ประกอบอาชีพนี้ต้องรู้จักเรียนรู้คนอื่น ต้องพร้อมจะแก้ไขความผิดพลาด เป็นอาชีพที่ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ขององค์กร และยังมองว่าเป็นอาชีพที่น่าเห็นใจ เพราะมีความยากลำบากในการทำงาน ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจมีทัศนคติต่อตัวนักประชาสัมพันธ์ในทิศทางบวก โดยมีมุมมองว่า นักประชาสัมพันธ์เป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับองค์กรของตนเอง เป็นผู้ที่ตอบสนองในด้านข้อมูลข่าวสารได้ นอกจากนี้นักประชาสัมพันธ์จะต้องมีคุณลักษณะเฉพาะหลายอย่าง เพื่อความสำเร็จในการทำงาน เช่น ให้ข้อมูลและรายละเอียด มีความกระตือรือร้นตอบคำถามของนักประชาสัมพันธ์ ให้ความร่วมมือในการทำงานข่าวของผู้สื่อข่าว และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจมีทัศนคติต่อตัวกิจกรรมสื่อมวลชนสัมพันธ์ในทิศทางบวก โดยมีมุมมองว่า เป็นกิจกรรมที่ทำให้ผู้สื่อข่าวได้พบและได้ถามคำถามกับแหล่งข่าวโดยตรง สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้สื่อข่าวกับแหล่งข่าว เป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์มากต่อตัวผู้สื่อข่าวและมีความจำเป็นมากต่อการทำข่าว มีบางกิจกรรมที่ผู้สื่อข่าวมองว่าไม่มีความจำเป็น เช่น การจัดเลี้ยงขอบคุณ การพาผู้สื่อข่าวไปสันทนาการ เนื่องจากบางครั้งอาจกลายเป็นเรื่องของผลประโยชน์ต่อกันได้ นอกจากนี้ผลจากการทดสอบสมมติฐานพบว่า ผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจที่มีเพศ อายุงาน และสาขาวิชาที่สำเร็จการศึกษาแตกต่างกัน มีทัศนคติต่ออาชีพการประชาสัมพันธ์ นักประชาสัมพันธ์ และกิจกรรมสื่อมวลชนสัมพันธ์ ไม่แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

Article Details

Section
Articles