การสำรวจผลงานวิจัยเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของการสื่อสารเพื่อการประชาสัมพันธ์
Main Article Content
Abstract
การศึกษาเรื่อง การสำรวจผลงานวิจัยเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของการสื่อสารเพื่อการประชาสัมพันธ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์เนื้อหาภาพลักษณ์ของการสื่อสารเพื่อการประชาสัมพันธ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 ถึงปี พ.ศ. 2550 โดยเลือกศึกษา คุณลักษณะงานวิจัย ประเภทของการวิจัย รูปแบบการวิจัย ขอบข่ายการวิจัย แนวคิด ทฤษฎีการสื่อสาร แนวคิดการประชาสัมพันธ์ และแนวคิดภาพลักษณ์ที่ใช้ในการศึกษาวิจัย
การศึกษาในครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) โดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) และใช้แบบฟอร์มลงรหัส (Coding Sheet) เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูล ประชากรเป้าหมายทั้งหมด คือ งานวิจัยภาพลักษณ์ของการสื่อสารเพื่อการประชาสัมพันธ์ตีพิมพ์เป็นภาษาไทยเฉพาะที่เป็นวิทยานิพนธ์ หรืองานวิจัยทั่วไปของอาจารย์ นักวิชาการที่เผยแพร่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 ถึงปี พ.ศ. 2550 กระทำโดยใช้วิธีการสืบค้นผ่านเว็บไซต์ฐานข้อมูลของสำนักหอสมุดกลางในมหาวิทยาลัยของรัฐ และเอกชนที่เปิดสอนทางด้านนิเทศศาสตร์ สื่อสารมวลชน สารสารศาสตร์ การโฆษณา หารประชาสัมพันธ์ และการสื่อสารการตลาดในระดับบัณฑิตศึกษารวมทั้งหมด 134 เรื่อง การวิเคราะห์ข้อมูลกระทำโดยใช้สถิติร้อยละ ผู้วิจัยได้ประมวลผลข้อมูลทั้งหมดโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS/PC+
ผลการศึกษาพบว่า คุณลักษณะของงานวิจัยภาพลักษณ์ของการสื่อสารเพื่อการประชาสัมพันธ์ พบว่า สัดส่วนของงานวิจัยไม่คงที่ มีเพิ่มจำนวนขึ้นและลดจำนวนลง ปีที่มีงานวิจัยภาพลักษณ์ของการสื่อสารเพื่อการประชาสัมพันธ์มากที่สุด คือ ปีพุทธศักราช 2539 ส่วนใหญ่เป็นงานวิทยานิพนธ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หากพิจารณาในส่วนของสาขาวิชา พบว่า สาขาวิชาการประชาสัมพันธ์ และสาขาวิชาสื่อสารมวลชน เป็นสาขาที่มีงานวิจัยภาพลักษณ์ของการสื่อสารเพื่อการประชาสัมพันธ์มากที่สุด ประเภทของการวิจัยในงานวิจัยภาพลักษณ์ของการสื่อสารเพื่อการประชาสัมพันธ์ ส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยเชิงปริมาณ รูปแบบของการวิจัยในงานวิจัยภาพลักษณ์ของการสื่อสารเพื่อการประชาสัมพันธ์ส่วนใหญ่ใช้การวิจัยเชิงพรรณนามากที่สุด ขอบข่ายการวิจัยในงานวิจัยภาพลักษณ์ของการสื่อสารเพื่อการประชาสัมพันธ์ที่ศึกษามากที่สุด คือ ภาพลักษณ์สถาบัน หรือภาพลักษณ์องค์กร แนวคิด ทฤษฎีการสื่อสารที่ใช้มากที่สุด คือ ทฤษฎีการเปิดรับข่าวสาร ทฤษฎีการกำหนดวาระข่าวสาร และทฤษฎี แบบจำลองการสื่อสารประชาสัมพันธ์ แนวคิดภาพลักษณ์ที่ใช้มากที่สุด คือ แนวคิดประเภทของภาพลักษณ์และความหมายของภาพลักษณ์