ทัศนะของนักวิชาการที่มีต่อการปฏิรูปสื่อ
Main Article Content
บทคัดย่อ
(ก) สื่อมวลชน – การทำหน้าที่ยังไม่ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะการประสานส่วนต่างๆของสังคม ซึ่งเต็มไปด้วยความขัดแย้ง เหตุเพราะนโยบายเน้นผลประโยชน์ทางธุรกิจ และบ้างก็ถูกแทรกแซงจากอำนาจทางการเมือง ข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาสื่อมวลชนควรทำหน้าที่ “ประสานสังคม” โดยเป็นเวทีกลางให้คนกลุ่มต่างๆแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนนำเสนอข่าวที่เป็นกลาง และไม่ตอกย้ำความขัดแย้ง นอกจากนี้ เรื่องสวัสดิภาพและความปลอดภัยของผู้สื่อข่าวในพื้นที่เสี่ยงควรมีมาตรการคุ้มครองเป็นกรณีพิเศษ เช่น การประกันภัยอุปกรณ์ป้องกันอันตรายขณะปฏิบัติหน้าที่ เช่น เสื้อเกราะ หมวกนิรภัย เป็นต้น เรื่องการกำกับดูแลสื่อมวลชนมี 4 แนวทาง คือ 1) ควบคุมกันเอง 2) ควบคุมโดยองค์กรอิสระ 3) ควบคุมโดยภาคประชาชน 4) ควบคุมโดยรัฐ สำหรับสื่อมวลชนที่ควรสนใจเป็นพิเศษ คือ สื่อโทรทัศน์ เช่น เนื้อหาโฆษณาแฝง ข้อความสั้น (SMS) ขณะที่ผู้ปฏิบัติงานสื่อเองควรถูกตรวจสอบได้เช่นกัน ข้อเสนอแนะต่อสื่อมวลชน ควรทบทวนหลักการที่มีอยู่แล้วให้ปฏิบัติได้จริงอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
(ข) สื่อชุมชน – ปัญหาในระดับปฏิบัติงานของวิทยุชุมชน เคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมมีบ้าง เช่น การนำเสนอข่าวสารมิได้เน้นไปที่ข่าวสารในการพัฒนาชุมชน แต่กลับเสนอข่าวสารนำไปสู่ความขัดแย้ง ในด้านจริยธรรม จรรยาบรรณก็ยังไม่ชัดเจน ขาดความเป็นมืออาชีพ อย่างไรก็ตาม รัฐไม่ควรใช้อำนาจปิดสื่อชุมชน สำหรับการควบคุม ตรวจสอบ มีการเสนอไว้ 4 แนวทาง 1) เน้นการควบคุมกันเอง โดยภาคประชาชนและภายในชุมชน 2) การควบคุมโดยองค์กรอิสระ 3) ควบคุมโดยรัฐ 4) โดยประสานความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ข้อเสนอแนะต่อสื่อชุมชน ต้องเริ่มจากการมีผู้รับผิดชอบชัดเจน เพื่อร่างหลักการปฏิบัติงาน ควรมีหน่วยงานเข้ามาเป็นเจ้าภาพขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ และกำหนดหลักจริยธรรมที่บังคับใช้ได้จริงอย่างเท่าเทียม
(ค) สื่อใหม่ สื่อสังคมออนไลน์ – สื่อประเภทนี้มีเสรีภาพสูงและยากแก่การปิดกั้น กระบวนการทำงานง่าย สะดวก และรวดเร็ว การนำเสนอข่าวสารมีทั้งสร้างสรรค์ และทำลาย ดังนั้น จรรยาบรรณ และจริยธรรม คุณธรรมในการใช้งาน จึงจำเป็นต้องได้รับการปลูกฝังแก่ผู้ใช้ทุกเพศ ทุกวัยอย่างกว้างขวาง โดยมีหน่วยงานหรือองค์กรรับผิดชอบอย่างจริงจัง ตลอดจนโรงเรียน และพ่อแม่ ผู้ปกครองช่วยกันดูแลส่งเสริม เรื่องการควบคุม กำกับดูแลนั้น ควรทำ 2 ส่วน คือ 1) ผู้ให้บริการเว็บไซต์ 2) ผู้ใช้บริการ แต่ควรเริ่มจากการให้ความรู้ ความเข้าใจ และให้ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างมีคุณธรรมและสร้างสรรค์ สำหรับหน่วยงานหรือองค์กรที่จะรับผิดชอบ มีการเสนอไว้ 4 แนวทาง ได้แก่ 1) เน้นการควบคุมกันเอง โดยภาคประชาชนและภายในชุมชน 2) การควบคุมโดยองค์กรอิสระ 3) ควบคุมโดยรัฐ 4) ประสานความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ข้อเสนอแนะ ควรปลูกฝังจิตสำนึกและจริยธรรมผ่านทางสถานบันครอบครัว สถาบันศาสนา และสถาบันการศึกษา