การพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ชุมชนบ้านบากชุม ตำบลโนนก่อ อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี

Main Article Content

สุวภัทร ศรีจองแสง

บทคัดย่อ

บ้านบากชุม ตำบลโนนก่อ อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี เป็นชุมชนหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานีที่ประกอบด้วยจุดเด่นด้านทรัพยากรธรรมชาติ เช่น
ป่าชุมชนและเขื่อนสิรินธร รวมถึงความโดดเด่นทางด้านภูมิปัญญาชุมชน ไม่ว่าจะเป็น การนวดแผนไทยและการผลิตผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ไม้แปรรูปจากไม้ใต้เขื่อนสิรินธรที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาดำน้ำลึก บ้านบากชุมเกิดขึ้นจากการอพยพจากชาวบ้านโดม โดยมีนายสุขี จิตรจันทร์ เข้ามาอาศัยอยู่เป็นคนแรกเมื่อประมาณปี พ.ศ.2515 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสิรินธร ต่อมาจึงได้มีผู้อพยพมาจากชุมชนใกล้เคียงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงได้ขอจัดตั้งเป็นหมู่บ้าน ชื่อบ้านบากชุม
เนื่องด้วยมีทรัพยากรต้นแคนทรายหรือต้นบากเป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของชื่อ “บ้านบากชุม” เมื่อปี พ.ศ.2525 โดยมีนายถวิล พันธ์โชติ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกและในปัจจุบันมีนายช่วน จันทร์สมาน เป็นผู้ดำรงตำแหน่ง (ข้อมูลพื้นฐานหมู่บ้าน; 2556)


            จากการจัดโครงการงานบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ชื่อโครงการ การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการท่องเที่ยว ประจำปีการศึกษา 2557 ณ บ้านบากชุม ระหว่างวันที่ 13-15 มิถุนายน 2557 ทำให้ทราบถึงศักยภาพของบุคลากรช่างฝีมือในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ผนวกกับภูมิปัญญาการดำน้ำใต้เขื่อนสิรินธรของชาวบ้านในชุมชน โดยภูมิปัญญานี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพทางด้านทรัพยากรทางธรรมชาติและทรัพยากรบุคคลที่มีทักษะที่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวโดยเฉพาะสินค้าของที่ระลึกทางการท่องเที่ยว เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีการพัฒนาและการผลิตผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกสำหรับการท่องเที่ยวมาก่อนซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายสำหรับชุมชนที่มีศักยภาพเช่นนี้ ผนวกกับความโดดเด่นของทรัพยากรทางวัฒนธรรม วิถีชีวิตที่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างครบวงจร


            นอกจากนี้แล้ว อนาคตของทรัพยากรไม้ใต้เขื่อนที่กำลังจะหมดไปในอนาคต ดังเช่นคำกล่าวของสารวัตรกำนันชุมชนบ้านบากชุม “อนาคตของอาชีพการผลิตเฟอร์นิเจอร์จากไม้ใต้เขื่อนสิรินธรอาจจะหายไปในอนาคตอันใกล้ เนื่องด้วยทรัพยากรไม้ใต้น้ำที่ถูกนำขึ้นมาใช้ในการผลิตเป็นจำนวนมากในแต่ละเดือน” (นายพงษธร จันทร์สมาน; 2560; สัมภาษณ์) นอกจากนี้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่ายังคงมีให้เห็นในชุมชนบ้านบากชุมและชุมชนใกล้เคียง เนื่องจากชาวบ้านที่แอบแฝงตัดต้นไม้ในป่าเพื่อนำมาแอบอ้างเป็นไม้ใต้น้ำ


            ดังนั้นด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้ผู้วิจัยเกิดคำถามว่า “เราจะช่วยให้ชาวชุมชนบ้านบากชุมใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นเครื่องมือสำคัญต่อการสร้างเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ของชุมชน เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนได้อย่างไร” ผู้วิจัยจึงเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อให้ประชาชนในชุมชนสามารถนำอัตลักษณ์ของชุมชนมาใช้ประโยชน์ในการออกแบบและพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ อันจะนำไปสู่การต่อยอดทางเศรษฐกิจของชุมชน รวมถึงยังเป็นการเพิ่มมูลค่าและคุณค่าของผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านบากชุม และสืบสานภูมิปัญญาการแปรรูปไม้ใต้น้ำที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนให้ยั่งยืนต่อไปได้                       


            ดังนั้นด้วยความตระหนักถึงการพัฒนาทางด้านการท่องเที่ยวที่เป็นการยกระดับมูลค่าและคุณค่าของทรัพยากรทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่ต่อเนื่อง รวมถึงความสัมพันธ์กับวิสัยทัศน์ของคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในการเป็น “ศูนย์กลางความรู้ด้านภาษา สังคม และวัฒนธรรมในอีสานใต้และภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” และพันธกิจที่ “มุ่งผลิตบัณฑิตให้มีความรอบรู้ทางวิชาการ มีคุณธรรมและรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงทางสังคม รวมทั้งมุ่งสร้างและบูรณาการองค์ความรู้ทางด้านภาษา สังคม วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอีสานใต้ ประเทศ และภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” แสดงให้เห็นถึงจุดเน้นของการดำเนินงานของคณะที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานด้านงานวิจัยในพื้นที่อีสานใต้และการสร้างองค์ความรู้ทางด้านวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่อีสานใต้ จากจุดเน้นดังกล่าว งานวิจัยในครั้งนี้จึงสามารถก่อให้เกิดการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของชุมชนที่กำลังหายไป ได้แก่ ภูมิปัญญาในการดำน้ำใต้เขื่อนและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกจากไม้ใต้น้ำ นอกจากนี้ประชาชนในท้องถิ่นยังมีความรู้ความสามารถและมีแนวคิด (Concept) ในการออกแบบและพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในชุมชนของตนเองอย่างยั่งยืน สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้จากการอบรมเชิงปฏิบัติการการออกแบบและพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์จากรุ่นสู่รุ่นได้ 


ฉะนั้นด้วยเหตุผลข้างต้นผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะจัดทำโครงการวิจัยการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์โดยชุมชนบ้านบากชุมเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ทรัพยากรทางวัฒนธรรมในฐานะปัจจัยหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ในชุมชนอันจะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืนในอนาคต

Article Details

บท
บทความวิชาการ
Author Biography

สุวภัทร ศรีจองแสง

สาขาวิชานวัตกรรมการท่องเที่ยวและบริการ คณะศิลปศาสตร์
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

References

กรมการพัฒนาชุมชน. (2558). ข้อมูลทั่วไปของชุมชนบ้านบากชุม จังหวัดอุบลราชธานี. [ออนไลน์]. กรุงเทพฯ: เว็บไซต์ http://www.otopvc.com [12 มิถุนายน 2558]
ช่วน จันทร์สมาน. (2560). กำนันตำบลโนนก่อ อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี. สัมภาษณ์วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2560
ประยูร พูลศรี. (2560). ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบากชุม อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี. สัมภาษณ์วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2560
พงศธร จันทร์สมาน. (2560). ผู้ประสานงานด้านการท่องเที่ยวชุมชนบ้านบากชุม อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี. สัมภาษณ์วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2560
ICOMOS Australia. (1999). The Burra Charter: The Australia ICOMOS Charter for Places of Cultural Significance. Australia: ICOMOS
Richards, G. (2010). Creative Tourism and Local Development. In Wurzburger, Rebecca, et al. Creative Tourism: A Global Conversation: How to Provide Unique Creative Experiences for Travelers Worldwide. Santa Fe: Sunstone Press.
Raymond, C. (2007). Creative Tourism New Zealand: The practical challenges of developing creative tourism. In Greg Richards and Julie Wilson (Eds.), Tourism, Creativity and Development (pp.145-157). New York: Routledge.