การพัฒนารูปแบบพัสตราภรณ์ในพิธีวิวาห์บาบ๋า สู่งานสร้างสรรค์คาบาเรต์

Main Article Content

ยุทธพงษ์ ต้นประดู่

บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่อง การพัฒนารูปแบบพัสตราภรณ์ในพิธีวิวาห์บาบ๋าสู่งานสร้างสรรค์คาบาเรต์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยมีความมุ่งหมาย 3 ประการ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาของกลุ่มชนบาบ๋า พิธีวิวาห์และรูปแบบพัสตราภรณ์ที่ใช้ในพิธีวิวาห์ของกลุ่มชนบาบ๋าจังหวัดภูเก็ต 2) เพื่อศึกษาการแสดงคาบาเรต์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตและแนวทางการพัฒนาพัสตราภรณ์ในพิธีวิวาห์ของกลุ่มชนบาบ๋าสู่งานสร้างสรรค์คาบาเรต์ 3) เพื่อสร้างสรรค์คาบาเรต์จากพิธีวิวาห์และรูปแบบ พัสตราภรณ์ในพิธีวิวาห์บาบ๋า เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ขอบเขตของพื้นที่วิจัย คือ ย่านเมืองเก่าภูเก็ต ประกอบด้วย พื้นที่ถนนดีบุก ถนนกระบี่ ถนนถลาง ถนนเยาวราช เทศบาลเมือง อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต และผู้วิจัยได้เลือกคณะจากแหล่งคาบาเรต์ 3 แห่ง ประกอบด้วย (1) บริษัทไซม่อนคาบาเรต์ (2) บริษัทไซม่อน สตาร์ คาบาเรต์ (3) บริษัทอะโพไดร์ คาบาเรต์ โดยใช้เป็นกรณีศึกษาแบบเจาะจง ซึ่งคณะคาบาเรต์ทั้ง 3 แห่งนี้มีชื่อเสียงและจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย การศึกษาข้อมูลการวิจัยแบ่งเป็น 3 ขั้นตอนตามความมุ่งหมาย วิธีดำเนินการวิจัยประกอบด้วย การศึกษาเอกสาร การสังเกต การสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่มย่อยจำนวน 3 ครั้ง และการประชุมเชิงปฏิบัติการโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย ครูภูมิปัญญาแห่งชาติ ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น กรรมการสมาคมบาบ๋าเพอรานากัน กรรมการบริหารสภาวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต กรรมการชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต กรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดภูเก็ต บุคลากรการท่องเที่ยวและกีฬา อบจ.ภูเก็ต กรรมการบริหารบริษัทภูเก็ตไซม่อน สตาร์ คาบาเรต์ และอาจารย์สาขาวิชาศิลปะการจัดการแสดง เพื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนารูปแบบพัสตราภรณ์ในพิธีวิวาห์ของกลุ่มชนบาบ๋าและกระบวนการแสดงคาบาเรต์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต พร้อมทั้งนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการบรรยายอย่างละเอียด


            ผลการวิจัยพบว่า 1) ประวัติความเป็นมาของกลุ่มชนบาบ๋าเกิดจากการที่ชายหนุ่มชาวจีนที่อาศัยบริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ของประเทศจีน เดินทางอพยพโดยเรือสำเภาเข้ามาอาศัยบริเวณแหลมมลายูส่วนใหญ่เป็นชาวจีนฮกเกี้ยน ซึ่งมีสาเหตุสำคัญ 3 ประการ คือ (1) ภัยการเมือง (2) ภัยสงคราม (3) ความอดอยากยากแค้น พบมากในเมืองท่าการค้าโดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ตและเมื่อการงานมั่นคงชาวจีนกลุ่มนี้ได้แต่งงานกับชาวพื้นเมืองภูเก็ต บางส่วนเดินทางกลับประเทศจีนเพื่อรับครอบครัวเข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีการผสมผสานวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ ที่สำคัญคือ พิธีวิวาห์ซึ่งมีขั้นตอนสำคัญ 5 ขั้นตอน ประกอบด้วย (1) พิธีการแลกแหวน (2) พิธีไหว้ฟ้าดิน (3) พิธีล้างเก้าอี้ (4) พิธีผ่างเต๋ (5) พิธีหกวันและรูปแบบพัสตราภรณ์ซึ่งมีอัตลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น 2) การแสดงที่โดดเด่นของจังหวัดภูเก็ต คือ คาบาเรต์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเลียนแบบจากต่างประเทศส่งผลให้เกิดปัญหาการฟ้องร้องด้านการละเมิดลิขสิทธิ์และการแต่งกายที่อนาจาร ส่อในเรื่องเพศ ส่งผลให้เกิดปัญหาอาชญากรรม แต่ด้วยความหลากหลายของวัฒนธรรมภูเก็ต โดยเฉพาะพิธีวิวาห์บาบ๋าซึ่งจัดปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากขั้นตอนมีความละเอียดซับซ้อนรวมทั้งผู้ประกอบพิธีมีอายุมากและไม่มีการถ่ายทอดความรู้ด้านการประกอบพิธีกรรมและรูปแบบพัสตราภรณ์อย่างเป็นระบบซึ่งในอนาคตอาจสูญหายได้ แต่ถ้านำมาประยุกต์สู่การแสดงคาบาเรต์สามารถเผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่นได้ 3) ผลจากการพัฒนารูปแบบพัสตราภรณ์ในพิธีวิวาห์บาบ๋าสู่การแสดงคาบาเรต์ พบว่า กลุ่มผู้รู้ ผู้ปฏิบัติ และนักท่องเที่ยว มีแนวคิดร่วมกันในการพัฒนารูปแบบพัสตราภรณ์ 3 ประการคือ (1) การพัฒนารูปแบบพัสตราภรณ์บนพื้นฐานการอนุรักษ์คือ การพัฒนาให้เห็นรากเหง้าการแต่งกายของวัฒนธรรมดั้งเดิม โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาพัสตราภรณ์ของเจ้าสาวให้มีความหรูหรา เหมาะสมกับการแสดงคาบาเรต์  ส่วนพัสตราภรณ์ของเจ้าบ่าว เพื่อนเจ้าบ่าวและเพื่อนเจ้าสาว ให้อนุรักษ์รูปแบบการแต่งกายดั้งเดิม (2) ด้านการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับประเทศจีนซึ่งเป็นมหาอำนาจของโลกสอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งเป็นอันดับที่ 1 ของจังหวัดภูเก็ต ส่งผลด้านการพัฒนาเศรษฐกิจระดับมหภาคและจุลภาค (3) ด้านความพึงพอใจของนักแสดงคาบาเรต์ ประกอบด้วยความคล่องตัวในการเคลื่อนไหวและการสื่อสารด้านอารมณ์ ส่งผลด้านสุนทรียศาสตร์ด้านการแสดง โดยข้อเสนอแนะ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตคือ ควรขยายผลสู่การแสดงสร้างสรรค์ประเภทอื่น ๆ เช่น ละครร้อง ละครใบ้ บัลเลต์ อีกทั้งควรร่วมกับหน่วยงานเศรษฐกิจท้องถิ่น เช่น กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดภูเก็ต ทั้งนี้เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

ไซม่อน คาบาเรต์. สำนักงานไซม่อน คาบาเรต์ (แผ่นปลิว). สำนักงานไซม่อน ภูเก็ตคาบาเรต์, 2558.

เทิดชาย ช่วยบำรุง. 2552. บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนบนฐานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง. การศึกษาปัญหาพิเศษ กรุงเทพฯ: วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า.

นพศักดิ์ นาคเสนา. 2546. นาฎยประดิษฐ์: ระบำพื้นเมืองภาคใต้. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์ มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สาวิตร พงศ์วัชร์. 2555. ศาสตร์ ศิลป์ ถิ่นเลใต้. กรุงเทพมหานคร: ห้างหุ้นส่วนจำกัดสามลดา.

อรไท ครุฑเวโช. 2550. การมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในจังหวัดภูเก็ต. การศึกษาปัญหาพิเศษ. มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต.

อัญชลีพรรณ อมรวิวัฒน์. 2554. “มรดกวัฒนธรรม.” ประมวลบทความการบริหารงานวัฒนธรรม 2554, ฉบับที่ 3 เดือนมีนาคม : 12.

รายนามผู้ให้สัมภาษณ์

โกศล แตงอุทัย, น.พ., นายกสมาคมบาบ๋าเพอรานากัน อำเภอเมือง จ.ภูเก็ต. สัมภาษณ์, 28 มิถุนายน 2558.

ภัทรพงศ์ เวชบุตร, ประธานกลุ่มบริษัทท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต อำเภอเมือง จ.ภูเก็ต. สัมภาษณ์, 18 ตุลาคม 2558.

สาวิตร พงศ์วัชร์. ครูภูมิปัญญาแห่งชาติ อำเภอเมือง จ.ภูเก็ต. สัมภาษณ์, 23 พฤศจิกายน 2558.