พุทธศาสนาในเวียดนาม: ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และความสัมพันธ์ทางสังคม

Main Article Content

สมหมาย ชินนาค
พระครูสารกิจโกศล

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์และพัฒนาการทางพระพุทธศาสนา  บทบาททางสังคมวัฒนธรรม และวิเคราะห์แนวโน้มพระพุทธศาสนาในประเทศเวียดนาม โดยการวิจัยเชิงเอกสารและการวิจัยภาคสนาม ในพื้นที่เวียดนามเหนือ เวียดนามกลาง และเวียดนามใต้ ผลการศึกษา พบว่า ในยุคแรก เวียดนามอยู่ภายใต้การปกครองของจีนนับพันปี จึงได้รับอิทธิพลพุทธศาสนา เต๋า และการบูชาบรรพชน ต่อมาตกเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส พุทธศาสนาเสื่อมโทรมลงมาก แม้พุทธศาสนิกเองถูกลดบทบาทในการบริหารประเทศ จนเกิดขบวนการกู้ชาติต่อต้านฝรั่งเศส โดยพระสงฆ์เป็นผู้นำประท้วงเพื่อพิทักษ์พุทธศาสนาทำอัตวินิบาตเผาตัวเอง  มีการจัดตั้งสมาคมพุทธบริษัทเวียดนาม ในยุคหลังอาณานิคม องค์กรสงฆ์ถูกแบ่งเป็นภาคเหนือในระบอบสังคมนิยม และภาคใต้ในระบอบประชาธิปไตย ตามการแบ่งประเทศเวียดนามในมติการประชุมที่เจนีวา  ภายหลังเมื่อโฮจิมินห์ปลดปล่อยเวียดนามเหนือและยึดไซง่อนได้รวมประเทศเวียดนามเป็นหนึ่งเดียว องค์กรทางศาสนาจึงปรับตัวให้เข้ากับจุดมุ่งหมายและหลักการของระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์


          บทบาททางสังคมและวัฒนธรรมของพุทธศาสนาในเวียดนาม พบว่า พุทธศาสนาในเวียดนามส่วนใหญ่เป็นนิกายมหายานมีบทบาทในทางภาคเหนือซึ่งมีศาสนิกส่วนมากเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กิงห์ (Kinh) มีคติในเรื่องพระโพธิสัตว์และแดนสุขาวดีมีอิทธิพลต่อวิถีความเชื่อของประชาชนมาก ขณะที่นิกายเถรวาท มีบทบาทในทางภาคใต้ มีศาสนิกชนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เขมร มีวิถีพุทธเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนในแบบวัฒนธรรมเขมร โดยมีวัดและเจดีย์ที่เป็นภาพสะท้อนความหลากหลายเชิงวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลทั้งจากจีน อินเดีย และตะวันตก ทั้งยังมีประเพณีและพิธีกรรมที่สำคัญคือ พิธีที่เกี่ยวเนื่องกับวันสำคัญของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันประสูติและตรัสรู้ และพิธีอีกอย่างหนึ่งคือ พิธีเต๊ด (Tet) คือเทศกาลวันต้นปีใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับบุคคล บรรพบุรุษ และเทพเจ้า นอกจากนี้ พระสงฆ์ยังมีบทบาทในด้านการส่งเสริมการศึกษา การสังคมสงเคราะห์ การพัฒนาชุมชน การส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม โดยมีองค์กรสงฆ์ทั้งในระดับส่วนกลาง ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ มีบทบาทในการบริหารและบริการในด้านต่าง ๆ 


          แนวโน้มและทิศทางพุทธศาสนาในเวียดนาม พบว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาในเวียดนาม ดำเนินการโดยผ่านกิจกรรมทางศาสนาและกิจกรรมวัฒนธรรมประเพณี เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งในอดีตและเพิ่มความเป็นเสถียรภาพทั้งสองฝ่าย ในส่วนของสถานการณ์ทางพุทธศาสนา ได้รับการคลี่คลายและให้เกิดทิศทางไปในทางที่ดีหลังจากที่ท่าน ติช นัท ฮันห์ สามารถกลับไปเยือนบ้านเกิดที่เวียดนามได้ภายใต้การต้อนรับอย่างอบอุ่นและได้รับความสนใจจากต่างประเทศ  ประกอบกับเวียดนามได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมชาวพุทธนานาชาติ ที่มีชาวพุทธร่วมประชุมมากที่สุด เมื่อ พฤษภาคม พ.ศ.2551 อย่างไรก็ตาม พุทธศาสนาในเวียดนามต้องดำเนินการภายใต้การกำกับของรัฐ และมีบทบาทในท่ามกลางความหลากหลายภายใต้ความเชื่อดั้งเดิมและศาสนาอื่น ในลักษณะเป็น “พุทธศาสนาแบบเวียดนาม” รวมทั้งเป็นเครื่องมือสำคัญประการหนึ่งในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเวียดนามกับนานาประเทศ

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

เขียน ธีระวิทย์. (2542). เวียดนาม: สังคม เศรษฐกิจ ความมั่นคง การเมือง และการต่างประเทศ. กรุงเทพมหานคร: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

จำนงค์ ทองประเสริฐ. (2554). ประวัติพุทธศาสนาในเอเชียอาคเนย์. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ดวงแก้ว.

ชัยวุฒิ พิยะกูล. (2552). พัฒนาการและบทบาทของพุทธศาสนาบริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลา. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).

พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). (2555). พระพุทธศาสนาในอาเซีย. (พิมพ์ครั้งที่ 6). กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์พระพุทธศาสนาของธรรมสภา.

มนธิรา ราโท. (2556). ภาพสะท้อนทางสังคมและวัฒนธรรมจากนิทานพื้นบ้านภาคใต้ของเวียดนาม. วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ฉบับพิเศษ) พิพิธทัศนาภาษาและวัฒนธรรมเวียดนาม. หน้า 49-85.

ยุกติ มุกดาวิจิตร. (2556). เวียดนามที่ไม่ใช่มังกรน้อย: อ่านประวัติศาสตร์เวียดนามผ่านพื้นผิวของอดีต. วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ฉบับพิเศษ) พิพิธทัศนาภาษาและวัฒนธรรมเวียดนาม. หน้า 89-131.

วัชรี ศรีคำ. (2544). พุทธศาสนาในเวียดนามหลังการรวมประเทศในปี ค.ศ.1975. รวมบทความประชุมวิชาการเรื่องอินโดจีนในกระแสการเปลี่ยนแปลง. จัดโดยศูนย์วิจัยสังคมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, 29-30 พฤศจิกายน 2544: 256-270.

วิทย์ บัณฑิตกุล. (2555). สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม . (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์.

สรณี วงศ์เบี้ยสัจจ์ (บรรณาธิการ). (2550). เวียดนาม: หน้าต่างสู่โลกกว้าง. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์หน้าต่างสู่โลกกว้าง.

สุด จอนเจิดสิน. (2543). เวียดนามกับการปฏิรูปประเทศตามนโยบายโด๋ย เม้ย (พ.ศ. 2529 -2539). กรุงเทพมหานคร: โครงการตำราคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

เหงียนคักเวียน (Nguyen Khac Vien) (เขียน) เพ็ชรี สุมิตร (แปล). (2545). เวียดนาม: ประวัติศาสตร์ฉบับพิสดาร. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

อนุชา ม่วงใหญ่. (ม.ป.ป.). บทบาทความสัมพันธ์ของเวียดนามต่อประชาคมโลกในศตวรรษที่ 21. เอกสารเผยแพร่ของศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย. ม.ป.ท.

Ho Phuong Lan. (2012). Van Hoa Phat Giao Va Lich Su Cac Ngoi Chua O Viet Nam (เรียนรู้หลักการวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาของเวียดนาม), Ho Chi Minh: Tai Cong Ty.

Mae Chee Huynh Kim Lan. (2010). A Study of Theravada Buddhism in Vietnam. Bangkok: Mahachulalongkornrajavidyalaya University.

Nguyen Khac Canh, et al. (2012). The Khmer in the South of Vietnam. Hanoi: VNA Publishing House.

Nguyen Lang. (2012). Viet Nam Phat Giao Su Luan (การเปรียบเทียบพุทธศาสนาในเวียดนาม). Ho Chi Minh: Nha Suat Ban Phuong Dong.

Nguyen Thanh Xuan. (2012). Religion in Vietnam. Hanoi: The Gioi Publishers.

Nguyen T.T. (1996). Phat giao o Viet Nam nhung van de dat ra hien nay. Ton giao tin nguong hien nay: May van de ly luan va thuc tien cap thiet. Hanoi: Trung tam thong tin-tu lieu.

Phung Thi My (editor). (2012). The Khmer in the South of Vietnam. Hanoi: Nha Xuat Ban Thong Tan.

Sidler, Peter. (1994). Power, religion and economy in Vietnam. Swiss review of world affairs, (5), 14-17.

Thich T.A. (1965). Phat giao Vietnamxua&nay. Saigon: Sen Vang.

Vietnam Buddhist Sangha, National Department of International Buddhist Affairs. (2011). A Brief History of Buddhism in Vietnam. Hanoi: Phuong Dong Publishing House.

รายชื่อผู้ให้สัมภาษณ์

Associate Professor Dr. PHAM Hong Tung ผู้อำนวยการ Science & Technology Department, Vietnam National University, Hanoi วันที่ 23 มีนาคม 2556.

พระมหาการุณ การุนิโก ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพุทธเถรวาทเวียดนาม (วัดอภิสุญญตาราม) เมือง Hue วันที่ 17 เมษายน 2557

Ms. Nguyen Thi Kim Thoa (ปิ่นแก้ว), (ไกด์จากเมือง Vinh), 17 เมษายน 2556.

Ms.Ton Nu Thi Na (นักศึกษาจากเมือง Hue), 17 เมษายน 2556.

นายสุบิน (ประชาชนที่เมือง Ho Chi Minh City ในเวทีการประชุมระดับชาติครั้งที่ 7 ขององค์กรพุทธศาสนาแห่งเวียดนาม), 11 พฤษภาคม 2556

พระให้ (หตฺถจิตฺโต) พระนิสิต มจร.วิทยาเขตอุบลราชธานี จากจังหวัด TraVinh, 23 มิถุนายน 2556.

พระมหาการุณ การุนิโก, (ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเถรวาท Huen Khong son Tuong pagoda เมือง Hue), 17 เมษายน 2556.

พระทัจ วาย (Thach Why), เจ้าอาวาสวัดโพธิสาลาราช (Bodhisalaraja) หรือวัดกำปง (Kompong) จังหวัดตราวิงห์ (Travinh) ประเทศเวียดนาม, วันที่ 12 พฤษภาคม 2556.

พระนักศึกษาชั้นปีที่หนึ่ง วัด Vinh Nghiem (มหายาน) (Ho Chi Minh City), 11 พฤษภาคม 2556.

พระมโน, เลขาหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดป่าสมาธิ (เมือง Hue), 17 เมษายน 2556.

พระลูกวัด Angkor Borei (จังหวัด TraVinh), 12 พฤษภาคม 2556.