การประยุกต์ใช้ทฤษฎี AHP ในการเลือกใช้รูปแบบเฟอร์นิเจอร์ กรณีศึกษา: ร้านสะดวกซื้อ
คำสำคัญ:
เฟอร์นิเจอร์ทรานสฟอร์ม, การวิเคราะห์เชิงลําดับชั้น, ร้านสะดวกซื้อบทคัดย่อ
งานวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการเลือกใช้รูปแบบเฟอร์นิเจอร์เดิมและเฟอร์นิเจอร์ ทรานสฟอร์มของร้านสะดวกซื้อที่จำหน่ายอาหาร เบเกอรี่และจำหน่ายเครื่องดื่มชง เนื่องจากเฟอร์นิเจอร์เป็นสิ่งที่สนับสนุนการขายสินค้าและบริการ จึงต้องมีการดูแลซ่อมบำรุง ทำความสะอาดให้สามารถพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลาและความต้องการปรับเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ตามประเภทของสินค้าที่จำหน่าย ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในด้านการขนส่ง การประกอบ การผลิตและการจัดเก็บชิ้นส่วนของเฟอร์นิเจอร์ จึงมีการคิดค้นพัฒนาเฟอร์นิเจอร์รูปแบบใหม่ คือ เฟอร์นิเจอร์ทรานสฟอร์มที่สามารถถอดชิ้นส่วนและปรับเปลี่ยนรูปแบบตามการใช้งานได้ง่าย แต่กลับมีราคาที่สูงกว่าเฟอร์นิเจอร์รูปแบบเดิมและนำวิธีการวิเคราะห์เชิงลําดับชั้น (Analytic Hierarchy Process) มาประยุกต์ใช้ในการตัดสินใจที่จะเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์รูปแบบใดให้มีความเหมาะสมที่สุดและกำหนดเกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสินใจ 6 เกณฑ์ ได้แก่ ต้นทุน ค่าใช้จ่ายในการปรับเปลี่ยน การซ่อมบำรุง การขนส่ง การติดตั้งและความสวยงาม กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา คือ ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจในกระบวนการเลือกรูปแบบเฟอร์นิเจอร์จำนวน 5 ท่าน โดยนำข้อมูลจากแบบประเมินการตัดสินใจและข้อมูลต่าง ๆ ของเฟอร์นิเจอร์ทั้ง 2 รูปแบบมาทำการเปรียบเทียบค่าน้ำหนักของเกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสินใจ
ผลการวิเคราะห์น้ำหนักของเกณฑ์พบว่าเกณฑ์ที่มีค่าน้ำหนักความสำคัญมากที่สุดอันดับหนึ่ง คือ การซ่อมบำรุง เท่ากับ 0.29 อันดับที่สอง คือ ต้นทุน เท่ากับ 0.26 และเมื่อนำไปพิจารณาหาลำดับความสำคัญในการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ พบว่าเฟอร์นิเจอร์เดิมมีค่าลำดับความสำคัญ เท่ากับ 0.37 เฟอร์นิเจอร์ทรานสฟอร์ม มีค่าลำดับความสำคัญ เท่ากับ 0.63 ดังนั้นจากข้อมูลดังกล่าวจึงควรตัดสินใจเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ทรานสฟอร์ม