การบูรณาการข้อมูลการรับรู้จากระยะไกล เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงแนวชายฝั่งในจังหวัดปัตตานี

Authors

  • วุฒิพงษ์ แสงมณี ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
  • ชาญชัย ธนาวุฒิ ภาควิชาปฐพีศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

Keywords:

การรับรู้จากระยะไกล, ความแปรปรวนของแนวชายฝั่ง, การทำแผนที่แนวชายฝั่ง, จังหวัดปัตตานี

Abstract

     บทความนี้มุ่งเน้นศึกษาการเปลี่ยนแปลงพื้นที่แนวชายฝั่งในพื้นที่จังหวัดปัตตานีในช่วงคาบเวลา 43 ปี (พ.ศ.2518-2554) โดยประยุกต์ใช้โปรแกรม Erdas 8.4 วิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลการรับรู้จากระยะไกล (Remote sensing) ทั้งข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมร่วมกับภาพถ่ายทางอากาศในหลายช่วงเวลาและการสำรวจรังวัดภาคสนาม ใช้โปรแกรมระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ Arcview 3.3
ลากเส้นแนวชายฝั่ง ร่วมกับการใช้โปรแกรม DSAS v2.2 วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงแนวชายฝั่งและการประมาณค่าตำแหน่งแนวชายฝั่งในอนาคต ทั้งนี้กำหนดเปรียบเทียบอัตราการเปลี่ยนแปลงแนวชายฝั่งในช่วงก่อนและหลังมีการก่อสร้างโครงสร้างวิศวกรรมป้องกันชายฝั่งเกิดขึ้น ผลการศึกษาพบว่า การแยกแนวชายฝั่งด้วยวิธีแบบการแบ่งส่วน (Segmentation) เน้นขอบภาพแบบโซเบล (Sobel) ข้อมูลที่ได้เมื่อนำมาหลวมรวมข้อมูล (Pan-sharpening) และทำภาพสีผสมหลายช่วงคลื่นช่วยให้การจำแนกแยกแนวเส้นขอบชายฝั่งแบบแปลความหมายด้วยสายตาทำได้ง่ายและมีความถูกต้องมากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงแนวชายฝั่ง พบว่า แนวชายฝั่งส่วนใหญ่ถูกกัดกร่อนพื้นที่เข้ามาในแผ่นดินอย่างต่อเนื่อง มีอัตรากัดกร่อนเฉลี่ย 4.02 ม./ปี อัตราการกัดกร่อนรุนแรงขึ้นในช่วงภายหลังที่มีการก่อสร้างโครงสร้างวิศวกรรมป้องกันชายฝั่ง ในช่วงก่อนมีโครงสร้างวิศวกรรมป้องกันชายฝั่ง (พ.ศ.2511-2538) มีอัตรากัดกร่อนเฉลี่ย 2.88 ม./ปี ซึ่งน้อยกว่าในช่วงหลังมีโครงสร้างวิศวกรรมป้องกันชายฝั่ง (พ.ศ.2538-2554) ที่มีอัตราการกัดกร่อนเฉลี่ย 4.82 ม./ปี โดยพื้นที่ด้านตะวันตกซึ่งต่อเนื่องกับของโครงสร้างแบบรอดักทราย (Groyne) และเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ (Jetty) เป็นพื้นที่ที่มีอัตราการกัดกร่อนระดับรุนแรงเฉลี่ย 8.37 ม./ปี  ทั้งนี้โครงสร้างวิศวกรรมป้องกันชายฝั่งแบบขนานกับ แนวชายฝั่งอาทิ ผนังกันคลื่น (Seawall) และแนวหินทิ้ง (Revetment) ช่วยชะลอการเปลี่ยนแปลงแนวชายฝั่งได้มากกว่าโครงสร้างแบบตั้งฉากกับแนวชายฝั่ง การประมาณค่าตำแหน่งแนวชายฝั่งด้วยสมการถดถอยเชิงเส้นใน พ.ศ.2570 คาดหมายว่าหมู่บ้านตันหยงเปาว์และบ้านบะอิง เป็นพื้นที่มีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงแนวชายฝั่งมากที่สุด ทั้งนี้หากไม่มีการกระทำใด ๆ จากค่าการประมาณแนวชายฝั่งคาดว่าพื้นที่ชุมชนบ้านตันหยงเปาว์อาจจะจมหายลงในทะเล การประยุกต์ใช้ข้อมูลรับรู้จากระยะไกลมีประโยชน์มากสำหรับการติดตามเฝ้าตรวจสอบเพื่อการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งแนวชายฝั่ง โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งที่มีการก่อสร้างโครงสร้างวิศวกรรมชายฝั่ง และเกิดประโยชน์ต่อ
การประเมินสภาพความเปราะบางและผลกระทบเชิงพื้นที่ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ชายฝั่งจังหวัดปัตตานี ทั้งนี้การประมาณค่าตำแหน่งแนวชายฝั่งในอนาคตในระยะยาวอาจมีความคลาดเคลื่อน ซึ่งอาจเป็นผลเนื่องจากการปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล เป็นต้น

Downloads

How to Cite

แสงมณี ว., & ธนาวุฒิ ช. (2017). การบูรณาการข้อมูลการรับรู้จากระยะไกล เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงแนวชายฝั่งในจังหวัดปัตตานี. Journal of Humanities and Social Sciences Prince of Songkla University, 13(1), 69–102. retrieved from https://so03.tci-thaijo.org/index.php/eJHUSO/article/view/97635