การศึกษากระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ ด้านการปฏิบัติพิธีการนำเข้าสินค้า ของสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าลาดกระบัง

Main Article Content

เกษม สวัสดี

บทคัดย่อ

การวิจัย เรื่อง การศึกษากระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการด้านการปฏิบัติพิธีการนำเข้าสินค้า ของสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าลาดกระบัง ภายใต้มาตรฐานการบริการศุลกากรไทย มีวัตถุประสงค์การวิจัย 1) เพื่อศึกษากระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการด้านการปฏิบัติพิธีการนำเข้าสินค้า 2) เพื่อเปรียบเทียบเวลาการปฏิบัติงานในการให้บริการด้านการปฏิบัติพิธีการนำเข้าสินค้า กับมาตรฐานเวลาการบริการของศุลกากรไทย 3) เพื่อศึกษาปัญหาอุปสรรคและแนวทางแก้ไข ของกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการด้านการปฏิบัติพิธีการนำเข้าสินค้า การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) กลุ่มตัวอย่างในการวิจัย ได้แก่ บุคลากรของสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าลาดกระบัง และตัวแทนผุ้นำเข้า จำนวน 12 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสัมภาษณ์เชิงลึกแบบไม่มีโครงสร้าง สรุปข้อค้นพบการวิจัย ดังนี้


1) พบว่ากระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการด้านการปฏิบัติพิธีการนำเข้าสินค้า ของสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าลาดกระบัง โดยเริ่มต้นผู้นำเข้าส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (ระบบคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากร) การชำระภาษีอากร การตรวจสอบสินค้ากรณียกเว้นการตรวจ (Green Line) การตรวจสอบสินค้ากรณีให้เปิดตรวจ (Red Line) การตรวจสอบสินค้าด้วยเครื่องเอกซเรย์ (X-Ray)  และโรงพักสินค้าส่งมอบสินค้าให้ผู้นำเข้า (นำสินค้าออกจากอารักขาของศุลกากร) เป็นไปตามมาตรฐานการบริการศุลกากรไทย และพบว่ามีการพัฒนากระบวนการทำงานและการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากรมาอย่างต่อเนื่อง มีการประสานกับหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหรือระเบียบต่าง ๆ ในการนำเข้าสินค้า มีการประชาสัมพันธ์แจ้งข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง


2) พบว่าระยะเวลาในการให้บริการของกระบวนการผู้นำเข้าส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ การชำระภาษีอากร การตรวจสอบสินค้ากรณีให้เปิดตรวจ (Red Line) การตรวจสอบสินค้าด้วยเครื่องเอกซเรย์ (X-Ray) ใช้เวลาเกินกว่าเวลามาตรฐาน การตรวจสอบสินค้ากรณียกเว้นการตรวจ (Green Line) โรงพักสินค้าส่งมอบสินค้าให้ผู้นำเข้า (นำสินค้าออกจากอารักขาของศุลกากร) ใช้เวลาอยู่ในเกณฑ์เวลามาตรฐาน และเวลาโดยรวมตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการนำสินค้าออกจากการอยู่ในอารักขาของศุลกากรไม่เกิน 30 วัน เป็นไปตามเวลามาตรฐานโดยหากผู้นำเข้าไม่มีการยื่นใบขนสินค้าและไม่ได้เสียอากรหรือวางประกันค่าอากรที่พึงเรียกเก็บ สินค้านั้นจะเป็นของตกค้างและกรมศุลกากรจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป


3) พบปัญหาระบบคอมพิวเตอร์ของกรมสศุลกากรขัดข้อง ผู้นำสินค้าเข้าส่งข้อมูลเข้าระบบคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากรไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ขาดความรู้ความเข้าใจในการขอใบอนุญาตสำหรับการนำเข้าสินค้า ตัวแทนออกสินค้าปฏิบัติงานไม่ได้มาตรฐานขาดความเข้าใจในการปฏิบัติพิธีการทางศุลกากร เจ้าหน้าที่ตรวจเอกสารและสินค้าไม่รอบคอบ ขั้นตอนรอรับการเอกซเรย์ใช้เวลานาน ยังไม่มีการติดตั้งระบบงานคอมพิวเตอร์ให้สามารถตรวจสอบภาพเอกซเรย์ ณ สถานีตรวจปล่อยบางสถานี การแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ มีการดำเนินการเช่น เมื่อระบบคอมพิวเตอร์ขัดข้องมีการประสานงานกับผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ให้ดำเนินการแก้ไขในทันที จัดอบรมให้เเก่เจ้าหน้าที่ ผู้นำเข้า เเละตัวเเทนออกสินค้า การตรวจสอบบัตรผู้นำสินค้าเข้า หรือผู้ที่จะปฏิบัติพิธีการศุลกากรกับระบบคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากร มีโครงการเอกซเรย์ล่วงหน้า และโรงพักสินค้าเปิดตู้คอนเทนเนอร์ที่มาถึงก่อนและหลังไปตามลำดับ


ข้อเสนอแนะ กรมศุลกากรควรพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ให้มีความเสถียร เชื่อมโยงข้อมูลกับทุกหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้ใช้บริการ และระบบอื่นๆ เช่นระบบการเอกซเรย์ Smart Phone IPADได้ รวมทั้งระบบสามารถตรวจสอบข้อมูลได้โดยอัตโนมัติ และควรจัดตั้ง Call Center & Helpdesk ที่มีประสิทธิภาพโดยจัดเจ้าหน้าที่ทีมงานดูแลระบบ และให้คำปรึกษาแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว ควรมีการพัฒนาช่องทางการชำระค่าภาษีอากร ค่าธรรมเนียม และประชาสัมพันธ์ เช่นทางเว็บไซต์ ให้ผู้นำเข้าทราบให้มากขึ้น

Article Details

บท
Articles

References

[1] กรมศุลกากร. (2561). รายงานประจำปี กรมศุลกากร 2561. กรุงเทพฯ : ส่วนสื่อสารองค์กร สำนักบริหารกลาง กรมศุลกากร.
[2] ธัญพร นิกูลวงศ์. (2559). ความพึงพอใจของตัวแทนออกของที่มีต่อการบริการตรวจปล่อยสินค้าของเจ้าหน้าที่ศุลกากร ฝบศ. 5 สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าลาดกระบัง. กรุงเทพฯ : สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
[3] สุภางค์ จันทวานิช. (2552). การวิเคราะห์ข้อมูลในการวิจัยเชิงคุณภาพ. กรุงเทพฯ : สํานักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
[4] ITIL Foundation version 4. (2019). Service Level Agreement. USA: bmcblogs. Retrived May 2, 2020, htttp://www.bmc.com
[5] USA Custom Clearance. (2020). US Custom Clearance Process. USA, Retrived May 2, 2020, http://www.usacustomsclearance.com/process/how-to-clear-u-s/.
[6] กรมศุลกากร. (2553). ประกาศกรมศุลกากร ลงวันที่ 27 กันยายน 2553 เรื่อง การกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของงาน (ฉบับที่ 2). กรุงเทพฯ : สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2563, จาก http://customs.go.th.
[7] กรมศุลกากร. (2556). ประกาศกรมศุลกากรที่ 23/2556 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556 เรื่อง คู่มือการผ่านพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์ว่าด้วยกระบวนการทางศุลกากรสำหรับการนำเข้า (e-Import). กรุงเทพฯ : สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2563, จาก http://customs.go.th.
[8] ศาสตรา บุญรักษ์. (2556). การพัฒนารูปแบบการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ : กรณีศึกษาการพัฒนารูปแบบการปฏิบัติงานของศูนย์เอกซเรย์และเทคโนโลยีทางศุลกากร สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าลาดกระบัง. กรุงเทพฯ : สถาบันบัณฑิต พัฒนบริหารศาสตร์.
[9] สุพจน์ เขียวฉะอ้อน. (2559). การศึกษาผลกระทบของโครงการเอกซเรย์ล่วงหน้า: กรณีศึกษา ศูนย์เอกซเรย์และเทคโนโลยีศุลกากร สานักงานศุลกากรตรวจสินค้าลาดกระบัง. กรุงเทพฯ : สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.