การประเมินคุณภาพบัณฑิตระดับปริญญาตรี หลักสูตรอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และบริการ ตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2552
Keywords:
มาตรฐานการศึกษา, คุณภาพบัณฑิต, คุณลักษณะบัณฑิต, หลักสูตรอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการAbstract
การผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพตรงตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานเป็นภารกิจหลักของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพบัณฑิตหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้ง หัวหิน โดยศึกษาและเปรียบเทียบระดับความพึงพอใจและความต้องการของผู้ใช้บัณฑิตต่อคุณลักษณะของบัณฑิต เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพบัณฑิตให้สอดคล้องกับกรอบมาตรฐานคุณวุฒิและความต้องการของตลาดแรงงาน
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ โดยใช้แบบสอบถามเก็บข้อมูลจากนายจ้าง ผู้บังคับบัญชา หรือผู้ประกอบการ ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งเป็นผู้ใช้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา ปีการศึกษา 2554 ประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ความถี่ (Frequency) ร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และ การทดสอบผลต่างระหว่างค่าเฉลี่ยแบบเป็นคู่ (Paired-Sample t-test)
ผลจากการวิจัย พบว่า ผู้ใช้บัณฑิตมีความพึงพอใจต่อคุณลักษณะของบัณฑิตโดยภาพรวมในระดับมากทั้ง 6 ด้านเรียงตามลำดับ คือ 1) ด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ 2) ด้านทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยี 3) ด้านบุคลิกภาพ 4) ด้านคุณธรรมจริยธรรม 5) ด้านความรู้ และ 6) ด้านทักษะทางปัญญา
แต่อย่างไรก็ดี ระดับความพึงพอใจต่อคุณลักษณะของบัณฑิตของผู้ใช้บัณฑิตยังน้อยกว่าระดับความต้องการของผู้ใช้บัณฑิตหรือคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ ความแตกต่าง (Gap) ระหว่างระดับความพึงพอใจและระดับความต้องการต่อคุณลักษณะบัณฑิตของผู้ใช้บัณฑิต เรียงลำดับจากมากไปน้อย คือ ด้านคุณธรรมจริยธรรม ด้านความรู้ ด้านทักษะทางปัญญา ด้านบุคลิกภาพ ด้านทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยี และด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ
ข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาคุณภาพบัณฑิต คือ ควรปรับปรุงกระบวนการจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมที่เน้นการพัฒนาและส่งเสริมทั้ง 6 ด้านเพิ่มเติมเพื่อให้บัณฑิตมีคุณลักษณะสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในด้านคุณธรรมจริยธรรม ด้านความรู้ และด้านทักษะทางปัญญา