การจัดการความรู้เพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้
Keywords:
การจัดการความรู้, มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต, องค์กรแห่งการเรียนรู้Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการใช้การจัดการความรู้เพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และแนวทางการจัดการความรู้เพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ ใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การวิจัยเอกสารเพื่อศึกษาวิธีการและผลการดำเนินงานที่ใช้การจัดการความรู้เพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2549-2553 และจัดสนทนากลุ่มของคณะทำงานการจัดการความรู้ของมหาวิทยาลัย (KM Team) เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคของการจัดการความรู้และศึกษาแนวทางการพัฒนาหน่วยงานและมหาวิทยาลัยสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ในปีงบประมาณ พ.ศ.2554-2556 ผลที่ได้จากการศึกษาเอกสารและการจัดสนทนากลุ่มนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ แปลความหมายและสรุปผลเพื่อจัดทำเป็นแนวทางการจัดการความรู้เพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2554-2556
ผลการวิจัยพบว่าการจัดการความรู้ของมหาวิทยาลัยเริ่มดำเนินการในรูปแบบของการปฏิบัติจริงและมีการสะสมองค์ความรู้และพัฒนาการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการศึกษาปฐมวัย และด้านอาหาร โดยในภาพรวมของมหาวิทยาลัยกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาการทำงานของเลขานุการ และได้ดำเนินกิจกรรมการจัดการความรู้ ในส่วนของการสร้างองค์ความรู้และจัดการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมสมรรถนะการแข่งขันของประชาชน ต่อมาได้ดำเนินการแต่งตั้ง CKO และ KM Team และจัดทำแผนการจัดการความรู้ โดยกำหนดขอบเขต เรื่องการพัฒนางานวิจัยและสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการวิจัย ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมหลัก จำนวน 4 กิจกรรม ที่สอดคล้องกับกระบวนการจัดการความรู้ทั้ง 7 กระบวนการ ได้มีการพัฒนาการจัดการความรู้ ในคณะ สำนัก/สถาบัน และศูนย์การศึกษาอย่างเป็นระบบ เข้มแข็งและต่อเนื่อง มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการความรู้ของมหาวิทยาลัยและคณะทำงาน เน้นการพัฒนา Competency ของบุคลากร และดำเนินการปรับปรุงร่างแผนการจัดการความรู้มหาวิทยาลัยฯ โดยตอบสนองยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย เรื่องการให้บริการวิชาการเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต อัตลักษณ์ (Identity) มหาวิทยาลัย 4 ด้าน ได้แก่ ด้านอุตสาหกรรมอาหาร การศึกษาปฐมวัย อุตสาหกรรมการบริการ และพยาบาลศาสตร์ เพื่อสร้างและนำองค์ความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และการบริหารจัดการเชิงพลวัตร ซึ่งจะมีประเด็นความรู้ ทางด้านการวิจัย การเรียนการสอนและการบริการวิชาการสู่ชุมชน
มหาวิทยาลัยควรดำเนินการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2554-2556 โดยมีแนวทางจากการศึกษา ดังนี้
ด้านปัจจัย (Input) 1)มหาวิทยาลัยกำหนดนโยบายให้ใช้ KM เป็นวิธีหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพงาน มีการจัดตั้งคณะทำงานประสานงานด้านการจัดการความรู้ระดับมหาวิทยาลัย และหน่วยงานมีการส่งเสริมวัฒนธรรมการพูดคุย 2) หน่วยงานสร้างหรือทำความเข้าใจ กระบวนการ KM 3) จัดให้มีองค์ความรู้ของแต่ละหน่วยงาน เพื่อนำมาใช้ในองค์กร แหล่งเรียนรู้ สร้างกิจกรรมนักศึกษาให้เป็นรูปแบบที่ชัดเจน 4) การรวมกลุ่มความรู้ในศาสตร์อื่นๆ นอกจากอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย 5) การจัดหมวดหมู่ความรู้ด้านต่างๆ มีหลายช่องทางที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย
ด้านกระบวนการ ( Process) 1) มีการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในมหาวิทยาลัยให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนและสังคม การส่งเสริม / สร้าง Motivation ในการ Share knowledge ในองค์กร 2) เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์จริง ทั้งจากภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย 3) สร้างพันธมิตรทางวิชาการทั้งภายในและภายนอก บริบทของมหาวิทยาลัย และส่งเสริมให้มีการจัดสภาพแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ 4) มีช่องทางการเผยแพร่ความรู้ในหน่วยงานผ่านช่องทางสื่อสารต่างๆ 5) มีการเผยแพร่ตามกระบวนการจัดนำเสนอผลงานด้านต่างๆ ตามกลุ่มของแหล่งความรู้ โดยแบ่งตามสายงาน ได้แก่ สายบริหาร สายวิชาการ และสายสนับสนุนวิชาการ
ด้านผลลัพท์ (Outcome) 1) งานดี คือ จัดสรรงานให้สอดคล้องกับบุคลากรที่มีอยู่ในปัจจุบัน เน้นให้บุคลากรตระหนักถึงหน้าที่และความรับผิดชอบ โดยมีเกณฑ์ในการปฏิบัติงานอย่างเป็นธรรมตามหลักธรรมาภิบาล บุคลากรสามารถคิดต่างในสิ่งที่ผ่านมาได้ องค์กร มีการบริหารงานอย่างโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และเป็นธรรมกับบุคลากร 2) คนมีปัญญา คือ มีการแบ่งปันองค์ความรู้ ผลิตงานที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และกระทำอย่างต่อเนื่อง 3) นำพา มสด. ก้าวหน้า คือ สร้างความสง่างาม ความผูกพัน จากความภาคภูมิใจในความเป็นสวนดุสิต เข้าใจตนเอง โดยการเรียนรู้จากตนเอง และเรียนรู้จากภายนอก สิ่งแวดล้อม มีฐานความรู้ในองค์กร เป็นองค์กรแห่งการเผยแพร่ เพื่อนำไปสู่วิสัยทัศน์