การศึกษาและวิเคราะห์นโยบายสาธารณะนโยบายส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติในยานยนต์ (NGV)
Keywords:
ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์, กระบวนการกำหนดนโยบาย, ทฤษฎีการตัดสินใจภายใต้การใช้เหตุผลอย่างครบถ้วนAbstract
งานวิจัยนี้ทำการศึกษากระบวนการกำหนดนโยบายของรัฐบาล ผ่านนโยบายส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (Natural Gas Vehicle NGV) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์กระบวนการออกนโยบายสาธารณะของรัฐบาลไทย และผลกระทบของนโยบายที่มีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อพิจารณาว่ากระบวนการออกนโยบายนี้อยู่ภายใต้ทฤษฎีการตัดสินใจภายใต้การใช้เหตุผลอย่างครบถ้วน (Rational Comprehensive Decision Making) หรือไม่
NGV ถูกนำใช้เป็นนโยบายของรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2543 เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงที่มีราคาถูกและพึ่งพิงตนเองได้ ผู้ที่กำหนดนโยบายด้าน NGV ของรัฐไทยประกอบด้วยสามกลุ่มหลักคือ 1)คณะรัฐมนตรี 2) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และ 3) คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) โดยการศึกษานโยบายทำโดยศึกษามติการประชุมที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการใช้ NGV และที่เกี่ยวข้อง ของผู้กำหนดนโยบายทั้งสามกลุ่ม ตั้งแต่ ตุลาคม พ.ศ.2542 จนถึง กรกฎาคม พ.ศ. 2556 รวมถึงศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง และการสัมภาษณ์เชิงลึกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการออกนโยบาย
ผลการศึกษากระบวนการกำหนดนโยบายพบว่า นโยบายส่วนใหญ่เป็นนโยบายเกี่ยวกับราคาของ NGV และ LPG โดยมากมีกลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มแท็กซี่ที่ใช้ LPG จากการวิเคราะห์พบว่าการบรรลุเป้าหมายของนโยบายไม่สอดคล้องกัน โดยจำนวนรถยนต์ที่ใช้ NGV มีจำนวนมากกว่าเป้าหมาย แต่จำนวนสถานีบริการมีน้อยกว่า และไม่สามารถบรรลุเป้าหมายหลักของนโยบายคือไม่สามารถทดแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ตามเป้าที่กำหนด
จากการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพบว่านโยบายส่งเสริมการใช้ NGV ไม่เป็นนโยบายที่ตัดสินใจโดยใช้เหตุผลอย่างครบถ้วน เพราะใช้กรอบเงื่อนไขการตัดสินใจที่ผิดพลาด , ไม่กำหนดทางเลือกนโยบาย , การไม่นำข้อมูลในบริบทอื่นมาใช้วิเคราะห์ และการตัดสินใจโดยไม่มองการยอมรับของสาธารณะ ทั้งนี้ได้เสนอแนวทางการกำหนดนโยบายที่สมเหตุสมผลในอนาคตด้วยการให้เกิดการมีส่วนร่วม(public participation) การสานเสวนา(Dialogue) การสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม(Deliberative Democracy) และการมีประชาชนผู้ตื่นตัวทางการเมือง (Active Citizen)